ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

ในยามวิกฤติ กลุ่มคนแรกที่ได้รับผลกระทบเสมอคือ ผู้พิการ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งได้รับผลกระทบมากยิ่งกว่า ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการจ้างงานผู้พิการ ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

ในยามวิกฤติกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบเสมอคือ ผู้พิการ เช่นเดียวกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้รับผลกระทบโดยถ้วนทั่ว ทว่าเรากลับพบว่า “ผู้พิการ” นั้นได้รับผลกระทบมากยิ่งกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อองค์กรต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ลดจำนวนพนักงาน คนกลุ่มแรกที่ต้องถูกเลิกจ้างย่อมไม่พ้นคนพิการ “ความพิการ” จึงไม่ใช่การเอ่ยถึงเพียงเรื่องของกายภาพเท่านั้น แต่ยังคงเป็นปัญหาในเรื่องของความ “พิการโอกาส” ที่สั่งสมมายาวนาน

แม้วันนี้ สถานะภาพคนพิการจะเริ่ม “อยู่ในสายตา” คนในสังคมมากขึ้น ทั้งในแง่สิทธิที่พึงได้รับ และการเปิดกว้างในการทำงาน ภายในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนคนพิการทั้งประเทศที่มีแล้ว เรากลับพบว่า จำนวนคนพิการที่ได้อยู่ในระบบแรงงานปัจจุบัน ยังคงมีเพียง “หยิบมือเดียว” 

ส่วนหนึ่งเพราะคนพิการส่วนใหญ่ถูกจ้างด้วยความสงสาร บางองค์กรอาจไม่ได้เห็นถึงความสามารถหรือศักยภาพของเขา หรือแม้ในยามปกติ เมื่อต้องเลือกพิจารณาบุคลากรในตำแหน่งสำคัญ คนพิการก็มักไม่ได้เลือก เพราะมักถูกมองว่าทักษะความสามารถต่างๆ อาจสู้กับคนทั่วไปในมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น เพื่อปลดล็อกปัญหาเหล่านี้ เราต้องวางแผนล่วงหน้า ให้ผู้พิการที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานมีความพร้อมมากขึ้น” เสียงสะท้อนจาก ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาไขความกระจ่างถึงปมปัญหาดังกล่าว

ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

เพราะเล็งเห็นว่า “ผู้พิการ” ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่ต้องได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาวะในชีวิตทุกมิติ เพื่อให้มี “สิทธิ ศักดิ์ศรี คุณค่า และพึ่งพาตัวเอง” ได้เหมือนคนทั่วไป สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยหนุนให้คนพิการมีงานทำ ภายใต้การจ้างงานเชิงสังคมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ส่วนสถานประกอบการที่ไม่จ้างงานคนพิการ ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 ซึ่งที่ผ่านมาผลจากการทำงานเชิงรุก ทำให้คนพิการมีอาชีพกว่า 7,000 คน สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงาน 20,000 งาน มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 300 บริษัท สามารถลดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ กว่า 6 พันล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าคนพิการทำงานได้จริงเหมือนคนทั่วไป 

แต่อย่างไรก็ดี สัดส่วนการว่าจ้างนั้นก็ยังไม่สมดุลกับสถานการณ์ของผู้พิการจริง ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย เล่าว่า ตอนนี้เฉพาะใน กรุงเทพฯ เรามีคนพิการที่มีบัตรแล้วแสนกว่าคน แล้วอยู่ในวัยทำงานประมาณสามหมื่นคน แต่ได้งานทำจริงไม่ถึงสามพันคน เพราะฉะนั้นยังมีอีกเยอะ หากรวมต่างจังหวัดน่าจะหลักแสนคน

ปัจจุบันมีผู้พิการเพียง 4,000 คน ที่จบปริญญาตรี จากผู้พิการสองล้านกว่าคน จบสายอาชีวะประมาณ 70,000-80,000 คน และจบวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณสามสี่แสนราย นอกจากนั้นคือ มีวุฒิเพียงประถมศึกษาปีที่ 6 

ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

แต่จากที่เราสัมภาษณ์ผู้พิการบางรายแม้วุฒิการศึกษาจะน้อย แต่เขาสามารถทำงานด้านเอกสารธุรการได้ เขาอยากมีงานทำเพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระครอบครัว เขาต้องมาใช้ทรัพยากรพ่อแม่ ญาติพี่น้อง แต่ถ้ามีรายได้เองเขาก็จะเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งเราก็พยายามหางานแบบโปรเจกต์ให้บ้าง แต่มันไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้พิการที่ประกอบอาชีพอิสระเองก็ได้รับผลกระทบมากจากโควิด-19 อย่างเช่น อาชีพนวด คือปิดกิจการไปเลย ปัจจุบันก็ยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งตรงนี้ยิ่งตอกย้ำว่าภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทชดเชยในเรื่องนี้มากขึ้น

ด้วยเหตุผลในเบื้องต้น สสส. และภาคีต่างๆ จึงจับมือกันมาผลักดันการขับเคลื่อนโครงการจ้างงาน ผู้พิการ โดยให้ความสำคัญกับผู้ว่าจ้างที่เป็นส่วนราชการมากขึ้น

เรามองว่า จริงๆ เขามีอัตราจ้างงานในตำแหน่งที่ยังว่างอยู่เป็นหลักหมื่นอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการจะทำให้หน่วยงานราชการเห็นความสำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่า ระบบราชการอาจมีขั้นตอนกฎระเบียบที่มากกว่า การตัดสินใจเองก็มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าองค์กรเอกชนค่อนข้างมาก ที่สำคัญในระเบียบว่าด้วยการจ้างคนพิการในระบบราชการส่วนใหญ่ ไม่มีการระบุตำแหน่งแบบไหนที่คนพิการสามารถเข้าไปทำงานได้ เช่น ต้องเดินเอกสารเพียงอย่างเดียว หรือต้องรับโทรศัพท์” ภรณีเอ่ย

การจะแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว จึงต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง และหนึ่งในแนวทางนั้น สสส.และภาคี จึงหันมาเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานผู้พิการก่อนที่จะออกไปสู่โลกการทำงานจริง ควบคู่ไปกับการเข้าไปทำความเข้าใจหน่วยงานราชการในแต่ละแห่ง ให้เห็นความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการในหน่วยงาน

ทัศนคติของสถานประกอบการยังไม่เชื่อว่าเขาจะทำงานได้จริง เราจึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรที่ช่วยพัฒนาเขา เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้พิการทั้งทักษะการทำงานและเรื่องจิตใจ ความมั่นคงทางด้านจิตใจ เช่น การอบรมให้คนพิการสามารถอยู่ในสังคมที่มีคนหลากหลายอย่างไร เราต้องปรับทัศนคติ เพราะเราคงเปลี่ยนแปลงคนหรือสภาพแวดล้อมอื่นไม่ได้ แต่เขาต้องมีภูมิคุ้มกันใจตัวเองและพร้อมที่จะเข้มแข็งเรียนรู้อยู่กับสังคมที่หลากหลาย ซึ่งนี่เป็น Soft Skill ที่เขาจะต้องมี นอกจาก Hard Skill หรือทักษะที่จำเป็นในการทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องใช้สำนักงาน การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว” ภรณี เอ่ย

ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

สำหรับคู่มือชุดดังกล่าว เป็นการพัฒนากับนักวิชาการและทดลองใช้แต่ละประเภทก่อนถึงจะผลิตออกมา และปรับให้เข้ากับแต่ละกลุ่ม อย่างผู้พิการออทิสติกส์ที่มีความจำเป็นต้องใช้คู่มือร่วมกับผู้ปกครอง

เราจึงพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบหนังสือ หรือผู้พิการทางกายหรือหูเองก็อาจใช้แบบออนไลน์ แอพลิเคชันแล้ว

อย่างไรก็ดี ภรณียอมรับว่า การเตรียมความพร้อมสองด้านไม่ง่าย เพราะผู้พิการส่วนใหญ่มักต้องสะดุดอยู่กับด่านแรกคือ “เกณฑ์” และ “เงื่อนไข” ด้านคุณสมบัติของแต่ละหน่วยงานที่ระบุไว้

ภรณี กล่าวว่า ผู้พิการส่วนใหญ่วุฒิการศึกษาปริญญาตรีค่อนข้างน้อย บางคนจบระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ บางคนเมื่อได้เข้าทำงานแล้ว ก็ยังเจอกับอุปสรรคทางกายภาพ เพราะแม้จะมีกฎหมายระบุว่าหน่วยงานราชการต้องมีพื้นที่อำนวยความสะดวกรองรับผู้พิการ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ แต่ปัจจุบันหลายที่อาจยังไม่มี หรือการเดินทางไปทำงานไม่สะดวก ยังไม่นับรวมทัศนคติเพื่อนร่วมงานที่มีต่อผู้พิการ

ผู้พิการกลุ่มออทิสติก เป็นบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งอีกหนึ่งความร่วมมือล่าสุด ที่เกิดขึ้นคือ สสส. หาวิธีแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงาน ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย ในการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการมีงานทำ สำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และทดลองใช้ในหน่วยงานของรัฐ โปรแกรมนี้สามารถวิเคราะห์รูปแบบงาน ขั้นตอนการฝึก และระบบสนับสนุนที่เหมาะสมกับคนพิการ เพื่อประเมินอาชีพด้วยการสอนงานให้คนพิการ 2 กลุ่มอาชีพ ได้แก่

  1. อาชีพอิสระ เช่น งานศิลปะ และการจัดทำ E-Book
  2. อาชีพในหน่วยงาน เช่น การใช้เทคโนโลยีทำงาน การฝึกทักษะและสมรรถนะทางสังคม (Social Competency) เพื่อใช้เป็นทักษะทำงานร่วมกับคนในสถานประกอบการ

จากการทำงาน และร่วมมือกับภาคีและองค์กรผู้พิการกลุ่มต่างๆ ทั้ง 7 ประเภท ก็ยังทำให้รู้ว่า ผู้พิการแต่ละประเภทเองก็มีทักษะหรือความถนัดที่แตกต่างกันไปอีก เพราะนั้นเขาต้องไปคิดค้นหาทักษะหรือความถนัดของตัวเอง เช่น กลุ่มออทิสติกส์เองเขามีทักษะด้านศิลปะการวาดภาพ การใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกได้ดี หรือคนตาบอดอาจถนัดนวด บางคนหูดี บางคนสายตาดี เราจึงพยายามพัฒนาเครื่องมือตัวช่วยให้แต่ละกลุ่ม และเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ความจริงประเทศไทยเราเคยมีคู่มือนะ แต่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื้อหาอาจไม่ตอบโจทย์กับโลกการทำงานยุคปัจจุบันแล้ว” ภรณี  กล่าว

ในขณะที่ความคืบหน้าอีกด้าน ของการเดินหน้าทำความเข้าใจกับหน่วยงานราชการเอง ก็มีเดินหน้าไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อหน่วยงานสำคัญอย่างกรุงเทพมหานครเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสผู้พิการ โดยได้ประกาศส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนพิการได้มีงานทำ ภายใต้โครงการสนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปี 2565 นี้มีนโยบายที่จะจ้างงานผู้พิการตลอดปีงบประมาณ

ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีเจตนารมณ์ ให้การสนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพสำหรับคนพิการ กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 50 เขต เขตละ 6 คน และส่วนกลางอีก รวม 306 คน ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 69 คน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 

1. ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้คนพิการ โดยเปิดศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการ ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร หนองจอก และทุ่งครุ เพื่อพัฒนาศักยภาพ สร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพ นำร่องใน 5 หลักสูตร กับกลุ่มที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ หลักสูตรสอนการปลูกผักออแกนิค การเพราะเห็ด หลักสูตรบาริสต้า หลักสูตรคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และหลักสูตรการเขียนโปรแกรม และในอนาคตเตรียมขยายเพิ่มหลักสูตรอบรมให้มากขึ้นตามความต้องการของคนพิการและสังคมต่อไป ซึ่งยังมีแผนที่จะขยายเป็น 8 แห่ง 

2. สร้างเว็บไซต์ bangkok.skynebula.tech เปิดพื้นที่ให้คนพิการที่มีความพร้อมและประสงค์จะสมัครงาน และนายจ้างที่ต้องการรับผู้พิการเข้าทำงานได้พบกัน และเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้พิการก็สามารถเลือกตำแหน่งงาน ในหน่วยงานที่ตนต้องการสมัครได้  และนายจ้างก็สามารถเข้ามาในเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อค้นหาผู้พิการที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ เข้าสู่กระบวนการนัดหมาย สอบ สัมภาษณ์ และรับเข้าทำงาน ได้รวดเร็ว และหลากหลายขึ้น

เรามองว่า บางครั้งผู้พิการอยากหางาน แต่เขาไม่รู้จะติดต่อที่ไหน หรือจะหางานอย่างไร ดังนั้นการมีเว็บไซต์สื่อกลางให้ผู้พิการและหน่วยงานต่างๆ ได้มาเจอกัน” รองผู้ว่า กทม. เอ่ยถึงที่มาของการพัฒนาเว็บไซต์

ปลดล็อกจ้างงาน 50 เขต กทม. เปลี่ยนผู้พิการมีศักดิ์ศรี มีที่ยืนในสังคม

เอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ กทม. นำร่อง พร้อมกล่าวว่า อยากให้หน่วยงานอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ออกระเบียบเรื่องการจ้างงานผู้พิการในภาครัฐโดยเฉพาะเหมือนที่ กรุงเทพมหานครกำลังทำซึ่งมีการบัญญัติในสภา กทม. เนื่องจากมองว่าเป็นการช่วยปลดล็อกได้มาก 

นโยบายระดับชาติมีแล้ว แต่นโยบายระดับหน่วยงานยังไม่ชัด สามารถมาศึกษาได้กับกรณีของทาง กทม. สามารถปลดล็อกจ้างงานได้ทันที หรือไม่แต่ละหน่วยงานมีการเปิดให้คนพิการแข่งขันกันเองได้ ในโควตาคนพิการเอง หรืออย่างน้อย อยากให้ ปรับเกณฑ์เหมือน กทม. หรืออย่างพื้นที่ราชการเองอีกทางยังสามารถให้พื้นที่คนพิการเข้าไปประกอบอาชีพ อาทิ ขายกาแฟ หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าผู้พิการได้

ขณะที่ สุชาติ โอวาทวรรณสกุล สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากสถานราชการบางแห่งปฏิเสธที่จะจ้างงานผู้พิการไม่พอ ยังเลิกจ้างผู้พิการ อย่างไรก็ดี อยากให้ปรับเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และให้เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ กับองค์การคนพิการได้ อย่างเช่นที่ กทม. มีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลงทะเบียน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการและนายจ้างที่หากต้องการจ้างงาน เขาก็จะมีข้อมูลผู้พิการได้ 

สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือเกณฑ์ อาทิ ในเรื่องการศึกษา การระบุประเภทความพิการ บางประเภท เช่น ตาบอด หรือพิการทางสติปัญญา ซึ่งอย่าว่าแต่เข้าไปทำงานเลย แค่สมัครก็ไม่ได้แล้ว

จริงๆ ที่หนูอยากได้ทำงานออฟฟิศทั่วไป เคยไปสมัครแต่เราไม่ได้ เพราะเพื่อนคนอื่นมีคุณสมบัติดีกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเรายังขาดประสบการณ์” เสียงบอกเล่าจากตัวแทนจากผู้พิการ หลังได้รับเข้าอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน น้องแอปเปิ้ล วิมลเรขา โสมภีร์ ปัจจุบันอายุ 25 หลังจบปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เธอได้มาทำงานที่มูลนิธิออทิสติกไทย เล่าถึงความรู้สึกว่าหลังจากการเข้าร่วมอบรมนี้ก็มั่นใจมากขึ้น แอปเปิ้ลเล่าว่า หลักสูตรมีอบรมวิชาชีพต่างๆ ที่จำเป็นและตนเองสนใจ

หนูเรียนเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปค่ะ เนื่องจากหนูมีความสนใจชอบวาดรูป เมื่อได้เรียนก็รู้สึกชอบ ตอนนี้กำลังคิดโครงการขายภาพ NFT นอกจากนี้ในหลักสูตรยังมีสอนทักษะการทำงาน Social Competency การใช้ชีวิตในสังคมเบื้องต้น เป็นการปรับพฤติกรรมตัวเองเมื่อเราอยู่ในสังคมทำงาน ซึ่งมีหลายเรื่องที่หนูเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนมากมายค่ะ

สำหรับผู้พิการ การมีงานทำไม่เพียงช่วยให้พวกเขามีรายได้ แต่ “งาน” ยังเป็นต้นทุนชีวิตสำคัญที่ทำให้คนพวกเขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเป็นอยู่และมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106

ขอขอบคุณจาก http://www.1479hotline.org/archives/17341

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *