นโยบายสาธารณะกับการพัฒนาคนพิการ ภาคพิสดารตอน ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

คนพิการ หมายถึง “บุคคลซึ่งมีข้อจํากัดใน การปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม” ซึ่งจากการเก็บสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่าในปี พ.ศ. 2564 มีประชากรที่เป็นคนพิการอยู่จำนวนประมาณ 2,000,000 คนเศษในลักษณะของความพิการ 7 ประเภท เช่นความพิการทางการเห็น พิการทางร่างกาย การเคลื่อนไหวหรือด้านจิตใจ การเรียนรู้ หรือ ออทิสติก เป็นต้น  โดยมีสัดส่วนหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่ตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือในจำนวนคนพิการทั้งหมดของประเทศนั้น มีสัดส่วนกว่า 40% หรือกว่า 800,000 คนที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอยู่ภาคเหนือในอัตรา 22%  อยู่ภาคกลางและภาคใต้ในอัตรา 21%  และ 12% ตามลำดับ สำหรับในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนั้น มีคนพิการเข้ามาอยู่อาศัยหรือทำมาหากินอีกจำนวนประมาณ 4.6 % หรือประมาณ 100,000 คน
คำถามต่อไปว่ามีคนพิการได้เรียนหนังสือมากน้อยแค่ไหน จากการศึกษาพบอีกว่าคนพิการที่มีโอกาสได้เรียนจบปริญญาตรีมีจำนวนประมาณแค่ 3,300 คนแต่มีจำนวนที่ได้เรียนถึงชั้นประถมศึกษาถึงกว่า 1,200,000 คน  พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ไปต่อ เพราะเหตุใด? 
           

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่การพัฒนาคนพิการของประเทศถูกกำหนดด้วยนโยบายสาธารณะในแต่ละรัฐบาลให้เป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้างแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายมาใช้บังคับคือพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ซึ่งต่อมาก็มีการถูกยกเลิกไปและออกกฎหมายใหม่ในปี พ.ศ. 2550 ในชื่อว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 หรือ พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ พ.ศ.  2551 
หรือการที่รัฐบาลไปให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ  (UN Convention on the rights of persons with disabilities : CRPD) ภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ (Human Right Office of the High Commissioner) และปัจจุบันมีคนไทยผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้พิการได้รับเลือกเป็นกรรมการอยู่ด้วยหนึ่งคนก็ตาม

ในปัจจุบันคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800-1,000 บาทและมีระเบียบกำหนดให้จ้างงานคนพิการในสัดส่วน 1: 100 แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีนายจ้างจำนวนหนึ่งเลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทนการจ้างผู้พิการเข้ามาทำงาน

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรงที่รับผิดชอบ ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น เพียง 827 ล้านบาทเศษ โดยในงบประมาณนี้เป็นงบบุคลากรอยู่ถึงจำนวนกว่า 264 ล้านบาทและเป็นงบเงินอุดหนุนคนพิการในโครงการต่างๆ สำหรับคนพิการทั้งหมดกว่า 2 ล้านคนเพียงประมาณ 162 ล้านบาทเท่านั้น 

คำถามที่ยังรอคำตอบคือ ทำไมไม่สนับสนุนอย่างจริงจังให้คนพิการได้เรียนสูงสุดโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดด้านอายุ มีรายได้พอเพียง ไม่เป็นภาระสังคม ในเมื่อรัฐฯมีนโยบายที่สวยเลิศหรู “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีการกำหนดกฎระเบียบสารพัดทั้งในการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการมากมายในการดำรงชีวิตหรือการสัญจร แต่ในความเป็นจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น

ตัวอย่างสำคัญในเมืองหลวงคือการที่ กรุงเทพมหานคร แพ้คดีในศาลปกครองโดยศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วตั้งแต่ต้นปี 2558 ให้กรุงเทพมหานครจัดทำลิฟท์พร้อมทั้งอุปกรณ์สิ่งอํานวยความสะดวก ที่สถานีขนส่งรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งสิ้นรวม 23 สถานีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการในการเดินทางสัญจรโดยศาลยังกำหนดในคำวินิจฉัยไว้ด้วยว่า บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอส” ผู้รับสัมปทาน ให้ความร่วมมือสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการจัดให้มีอุปกรณ์ที่อํานวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ     

ในปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินแล้วว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีงบประมาณและรายได้จัดเก็บของตนเองเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทต่อปีแพ้คดี แต่แทนที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดแล้วกลับเพิกเฉย ล่าช้า ไม่เกรงกลัวศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด รัฐบาลเองก็ไม่เข้ามาแก้ไขปล่อยให้คำวินิจฉัยของศาลไม่ได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างครบถ้วนเป็นเวลานานกว่า 6 ปี ซึ่งคนพิการผู้ได้รับผลกระทบได้แต่ทำตาปริบๆ

หรือท้ายที่สุดแล้ว ต้องคิดในใจดังๆ ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”ก็คือวาทะกรรมหนึ่งที่มอบไว้ให้คนพิการได้ฝันต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795

ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://www.thaipost.net/main/detail/112934

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *