จ.มหาสารคาม กระตุ้นสาวแก้มแดงตั้งครรภ์คุณภาพ ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิด

จ.มหาสารคาม กระตุ้นสาวแก้มแดงตั้งครรภ์คุณภาพ ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิด ง่ายและใช้จ่ายน้อยกว่าการแก้ไข เพียงได้รับสารอาหารครบถ้วน ทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์

วันนี้ (24 เม.ย. 61) ที่ห้องประชุมคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการบุคลากรสาธารณสุข แกนนำนิสิต นักศึกษา และภาคีเครือข่าย ในโครงการ “สาวมหาสารคามแก้มแดง ตั้งครรภ์คุณภาพ ป้องกันลูกพิการ จังหวัดมหาสารคาม” โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหา หลังจากองค์การอนามัยโลกพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของทารกร้อยละ 20 – 30 ในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา เกิดจากความพิการแต่กำเนิด ทั้งที่สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ หากหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารครบถ้วน อย่างเช่น วิตามินโฟลิก หรือ โฟเลต

โดยภายในงานมีกิจกรรมสันทนาการ เต้นเพลง “สาวไทยแก้มแดง” จากชมรมทูบีนัมเบอร์วัน การบรรยายเรื่อง “สาวมหาสารคามแก้มแดง หน้าใส ฉลาด ช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด” โดยนายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รอง ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามันพิทักษ์ฯ การบรรยายเรื่อง “ความสำคัญของธาตุเหล็กและไอโอดีน” โดยนายแพทย์ณัฐพงษ์ พุทธบุญกันต์ นายแพทย์ชำนาญการ รพ.มหาสารคาม และการบรรยายเรื่อง “เพศวิถีศึกษา : การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” โดยนางเกศมุกดา ไตรรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.มหาสารคาม

นายแพทย์ ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จังหวัดมหาสารคามมีการดำเนินงานจดทะเบียนและป้องกันดูแลรักษาทารกพิการแต่กำเนิดใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มอาการดาวน์ 2.โรคหลอดประสาทไม่ปิด 3.ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ 4.ภาวะแขนขาพิการแต่กำเนิด 5.โรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเชน โดยในอำเภอเมืองมหาสารคาม พบอุบัติการณ์เกิดความพิการในกลุ่ม 5 โรค ตั้งแต่ พ.ศ.2556 – 2560 จำนวน 30 – 38 ราย เฉลี่ย 31 ราย คิดเป็น 11.2 ต่อทารกเกิดมีชีพ 1,000 ราย ซึ่งหากมีการจดทะเบียนครบทุกอำเภอ คาดว่าอุบัติการณ์คงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบหญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง ร้อยละ 18.8 และขาดสารไอโอดีน ร้อยละ 50 ในขณะที่ข้อมูลการศึกษาระดับประเทศในโรงเรียนแพทย์ พบทารกพิการแต่กำเนิดประมาณ 8.5 – 24.4 ต่อทารกเกิดมีชีพ 1,000 ราย ซึ่งสวนทางกับความก้าวหน้าทางวิชาการ และองค์ความรู้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมาก อีกทั้งต้นทุนการรักษานั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าการป้องกัน

สำหรับโครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันความพิการในทารกแรกเกิด ผ่านกลไกการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ตามนโยบายและวาระจังหวัดมหาสารคาม ขับเคลื่อนจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนมุ่งสู่เด็กตักสิลา 4.0 เป้าหมายคือ หญิงวัยเจริญพันธุ์ในจังหวัดมหาสารคาม เข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การดูแลระหว่างตั้งครรภ์ และการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน

 

ขอบคุณ… https://goo.gl/yU2E5N

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *