Uber ต้องจ่าย 1.1 ล้านดอลลาร์ เพราะปฏิเสธผู้หญิงตาบอด 14 ครั้ง

Uber ต้องจ่าย 1.1 ล้านดอลลาร์ เพราะปฏิเสธผู้หญิงตาบอด 14 ครั้ง

Uber ต้องจ่ายเงิน 1.1 ล้านดอลลาร์แก่หญิงผู้พิการทางสายตาชาวอเมริกันที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้บริการรวม 14 ครั้ง เพราะความพิการและสุนัขนำทางของเธอ แม้ Uber จะอ้างว่า ตนเองไม่มีความผิดทางกฎหมายเลือกปฏิบัติ เนื่องจากคนขับรถไม่ใช่พนักงานของบริษัทก็ตาม

อนุญาโตตุลาการผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2021 ระบุเหตุผลว่า Uber ปล่อยให้คนขับรถที่มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติเพราะความพิการของผู้โดยสาร ยังคงขับรถให้ Uber ต่อไป โดยไม่มีการดำเนินการลงโทษใดๆ แถม Uber ยังแนะนำให้คนขับรถหาเหตุผลอื่นๆ เพื่อปฏิเสธการรับผู้โดยสาร และบางครั้งก็สนับสนุนให้คนขับยังอยู่บนแพลตฟอร์ม แม้จะถูกร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติก็ตาม

ลิซ่า เออร์วิ่ง (Lisa Irving) อาศัยอยู่ในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก เธอยื่นคำร้องตั้งแต่ปี 2018 ระบุว่า ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นรถกับสุนัขนำทางรวมทั้งหมด 14 ครั้ง โดยถูกทิ้งให้ยืนกลางดึก ตากฝน ไปทำงานสายจนทำให้ถูกไล่ออกจากงาน มี 2 ครั้งที่คนขับรถดูถูกและใช้คำพูดละเมิดเธอ

ตามกฎหมายผู้พิการ สหรัฐอเมริกา การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารที่มีสุนัขนำทางนั้นผิดกฎหมาย ที่ผ่านมา Uber ถูกผู้พิการทางสายตาฟ้องร้องหลายครั้ง ในปี 2014 สมาคมคนตาบอดสหรัฐอเมริกาฟ้อง Uber จากข้อห้ามเรื่องสุนัขนำทาง จนในปี 2017 Uber ตกลงแจ้งให้กับคนขับรถรู้ว่า พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยการให้บริการแก่ผู้โดยสารที่มีสุนัขนำทางด้วย

นโยบายของ Uber เมื่อปี 2016 กำหนดว่า คนขับรถต้องยอมรับตั้งแต่สมัครงานแล้วว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้พิการนำสัตว์เดินทางไปด้วย รวมทั้งจะได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับนโยบายนี้ในแอปพลิเคชัน

ด้าน Uber แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ โฆษกของ Uber ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ว่า Uber ภูมิใจที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารที่พิการทางสายตา คนขับรถใช้แอปฯ Uber โดยรับรู้ว่าจะต้องมีผู้โดยสารที่ใช้สุนัขนำทางตามกฎหมาย นอกจากนี้ Uber ยังจัดอบรมเป็นประจำ รวมทั้งพิจารณารับเรื่องร้องเรียนด้วย

สำหรับในประเทศไทย พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (8) ระบุไว้ว่า คนพิการมีสิทธิที่จะนำ “สัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใดๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทาง”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่แพลตฟอร์มให้บริการรับส่ง shared-ride เช่น Grab ไม่ได้ระบุนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ได้ออกบริการพิเศษสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ และมีนโยบายด้านสัตว์เลี้ยงว่า หากต้องเดินทางพร้อมสัตว์เลี้ยงต้องแจ้งให้คนขับทราบล่วงหน้า และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันด้านความสะอาดด้วยตัวเอง

ขอขอบคุณ: ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/foreign/2065040

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *