รมช.แรงงาน ปรับแผนสู้โควิดฯ ลุยจัดงานหาแนวร่วมช่วยคนพิการ 30 เม.ย.นี้

รมช.แรงงาน ปรับแผนสู้โควิดฯ ลุยจัดงานหาแนวร่วมช่วยคนพิการ 30 เม.ย.นี้

“นฤมล” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ถกสถานประกอบกิจการแบบนิวนอร์มอล 30 เม.ย.นี้ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ “เสริมฝีมือ สร้างสุข ให้อาชีพคนพิการ”

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ จนถึง 30 เมษายน 2564 และงดการจัดงานประชุม สัมมนา ที่มีการรวมคนเกินกว่า 50 คนนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังข้อแสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้ชื่องาน “เสริมฝีมือ สร้างสุข ให้อาชีพคนพิการ” และเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการให้ความร่วมมือดำเนินการมาตรา 33 และมาตรา 35 ให้มากยิ่งขึ้น จึงมีการปรับแผนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2564

นางนฤมล กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ต้องการเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และดำเนินการตามมาตรา 35 ให้มากขึ้น ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรา 35 มีหลายกิจกรรมที่สถานประกอบกิจการสามารถทำได้ เช่น จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นต้น เพื่อลดการจ่ายเงินมาตรา 34 ให้น้อยลง ปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการที่กระทรวงแรงงานมีข้อมูลหรือดำเนินการตามมาตรา 34 มีประมาณ 10,000 กว่าแห่ง จึงต้องการเชิญชวนสถานประกอบกิจการในกลุ่มนี้ ดำเนินการตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 35 นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ สมาคมคนพิการทั้งหลายในการขับเคลื่อนการทำงานในครั้งนี้ด้วย

การสัมมนาในครั้งนี้ จัดสัมมนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดังนั้นสถานประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูล สามารถแจ้งเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ที่กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ 022453705 และติดตามการไลฟ์สด ผ่านเฟสบุคไลฟ์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ปัจจุบันมีหลายบริษัทดำเนินการแล้ว แต่ต้องการกระจายความร่วมมือนี้ออกไปให้มากยิ่งขึ้น ตามแนวทาง “เพิ่มการจ้าง มีการจัดและลดการจ่าย” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างยั่งยืน การช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ 1 คน ถือว่าได้ช่วยคนในครอบครัวนั้นได้ 3-4 คน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” นฤมล กล่าว

ขอขอบคุณ: ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2072703

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *