คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ได้จัดการสัมมนาเนื่องในวันสตรีสากล ๒๕๖๑ เรื่อง “บทบาทสตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี กล่าวรายงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการสะท้อนพัฒนาการและความก้าวหน้าของบทบาทสตรีในมิติต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ การพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าของบทบาทสตรี โดยสรุปสาระสำคัญจากการสัมมนาได้ ดังนี้

นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ การสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมาธิการ กิจการสตรี ได้กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓) นับเป็นวันที่มีความหมายอย่างยิ่ง ของเหล่าสตรีทั้งมวล ทั่วโลกเพราะเป็นวันที่ตัวแทนสตรี จาก ๑๘ ประเทศได้มาร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และประกาศให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มา ซึ่งความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนาสตรี ทั้งมวล

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก็ได้แสดงเจตนารมณ์ ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสตรีเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ประเทศไทยได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นกลไกระดับชาติในการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อรำลึก ถึงความเป็นมาแห่งการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค หญิงชาย ความเป็นธรรม สันติภาพและการพัฒนา นับแต่นั้นมา หลายภาคส่วนในประเทศไทย รวมทั้งด้านนิติบัญญัติก็ได้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากลมาอย่างต่อเนื่อง

คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ในคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้ติดตาม เฝ้าระวังและรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ได้ตระหนักถึงสถานภาพและบทบาทของสตรีไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ น่ายินดีว่าในปัจจุบันบทบาทสตรีในประเทศไทยมีการพัฒนาและ มีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี ๒๕๕๙ ชี้ให้เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้านี้ ในด้านการศึกษา มีสถิติว่า เด็กผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานได้เท่าเทียมกับเด็กชาย มีสถิติสตรีเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่าบุรุษในภาคแรงงาน สถิติของแรงงานสตรีมีถึงกว่าร้อยละ ๖๐ ในสัดส่วนประชากรยากจน พบว่าอัตราส่วนของสตรีที่มีฐานะยากจนอยู่ที่ร้อยละ ๖.๘ ซึ่งมีอัตราส่วนน้อยกว่าบุรุษในภาคธุรกิจ มีสตรีเป็นผู้นำในการบริหาร องค์กรระดับกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นสตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสถิติการสำรวจของ International Labor Organization ในรอบ ๒๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๕๗) ชี้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้หญิงที่เป็นตำแหน่งผู้จัดการ (Manager) อยู่ใน ลำดับที่ ๓ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ ๖๔ จาก ๑๐๘ อันดับของโลก

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีสากล และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ และการพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าของบทบาทสตรีให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปของประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีในการสะท้อนพัฒนาการและความก้าวหน้าของบทบาทสตรี ในมิติต่างๆ อาทิ มิติทางสภานิติบัญญัติ มิติทางการบริหารรัฐกิจ มิติทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และมิติทางสากล เพื่อให้ เกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมความเสมอ ภาคระหว่างเพศ การพัฒนาและความก้าวหน้าของบทบาทสตรี คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการดำเนินงาน ของคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี จึงได้จัดการสัมมนาเนื่อง ในวันสตรีสากลปี ๒๕๖๑ เรื่อง “บทบาทสตรีไทยในยุคไทยแลนด์ ๔.๐” ขึ้น

 

ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดการสัมมนา ว่าเป็นที่ทราบกัน ดีว่า ประเทศทั่วโลกโดยการประกาศขององค์การสหประชาชาติให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ เรียกร้องของคนงานสตรี ผมขอย้อนรำลึกไปในประวัติศาสตร์สัก เล็กน้อย จากเดิม “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) นั้น เรียกว่า “วันแรงงานสตรีสากล” (International Working Women’s Day) เป็นวันแห่งการรำลึกและเฉลิมฉลองความสำเร็จ ในการต่อสู้ทางสิทธิแรงงานและเศรษฐกิจของผู้หญิง ในระยะเริ่มแรกเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มประเทศสังคมนิยม แต่ต่อมาได้กลายเป็นอุดมการณ์สากล กลายเป็นวัฒนธรรมของหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปและทั่วโลก ตามที่ท่านประธานอนุกรรมาธิการกิจการสตรีได้กล่าวแล้ว

วันสตรีสากล จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการลุกขึ้นต่อสู้และแลกด้วยชีวิตของแรงงานสตรีในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐) หรือ ๑๖๑ ปีที่ผ่านมา ในวันนั้น แรงงานสตรีกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ออกมาเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงาน สตรีและเด็กอย่างทารุณประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้อง สิทธิในการทำงาน โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับ ดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึง การได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

“ผมเชื่อมั่นว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ การขับเคลื่อนผลักดัน ให้สตรีได้มีบทบาทในทุกๆ ภาคส่วนยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยสตรีเองและโดยบุรุษที่เคารพและเห็นความสำคัญของ บทบาทสตรี สำหรับประเทศไทย การตระหนักถึงการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าของบทบาทสตรีก็ได้ดำเนินมาอย่างมีความก้าวหน้า ขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ”

สำหรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติแห่งชาติ เมื่อในคราวการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ได้มีการประกาศ “คำมั่นของที่ประชุมประธานรัฐสภาโลก” ในเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีโดยเฉพาะ คือ รัฐสภาโลกจะมุ่งมั่น “ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศขึ้นเป็นกระแสหลักในวงการรัฐสภา” (Mainstreaming gender equality into the work of parliaments) จากคำมั่นนี้ ทำให้รัฐสภาโลกมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภา ปี ๒๕๕๕-๒๕๖๐ โดยมีเป้าหมายหลัก ๓ ประการ ประกอบด้วย (๑) เพิ่มจำนวนสมาชิกรัฐสภาสตรีทั่วโลก (๒) ส่งเสริมและเพิ่มบทบาทของสตรีในรัฐสภา และ (๓) ให้การปกป้องสิทธิสตรีเป็น กระแสหลักของการดำเนินงานของรัฐสภาทั่วโลก และเป็นที่น่ายินดีว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเรามีการดำเนินงานในด้านกิจการสตรีมาอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ซึ่งมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และรวมถึงการผลักดันงาน ให้เกิดการสัมมนาในวันนี้ด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตรากฎหมายหลายฉบับที่มีสาระสำคัญในการคุ้มครอง ส่งเสริม สิทธิและสถานภาพสตรี อาทิ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทยที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคต พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังหญิง ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การควบคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ Bangkok Rules และพระราชบัญญัติการ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ เป็นต้น

 

อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/nnd/2815131

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *