เปลี่ยนด้อยเป็นยืนได้ วิชาชีพฉบับ ‘วิทยาลัยชุมชนตาก’

เปลี่ยนด้อยเป็นยืนได้ วิชาชีพฉบับ ‘วิทยาลัยชุมชนตาก’

 

ท่ามกลางปัญหามากมาย วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากผุดโครงการสร้างงานสร้างรายได้ ทลายกำแพงความเหลื่อมล้ำ มอบโอกาสไปจนถึงคนชายขอบ

 

ขณะที่ปัญหาปากท้องกำลังรุมเร้าหลายคนเพราะพิษจากโรคระบาด โควิด-19 ที่ฟากฝั่งหนึ่งของประเทศไทย วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก (วชช.ตาก) กำลังสร้างคน ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่เลือกว่าคนกลุ่มนั้นจะอยู่ชายขอบ ผ่านการทำ โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ใน 3 สาขา คือ 1. ช่างเชื่อมโลหะ 2. การนวดไทยเพื่อสุขภาพ และ 3.การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าปกาเกอะญอ

 

  • แสงส่องทางด้วยการสร้างอาชีพ

 

พื้นที่จังหวัดตาก นอกจากจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังคงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่างยังเป็นพื้นที่รอยต่อของพรมแดนที่มีระยะห่างของกลุ่มชน ความเหลื่อมล้ำ และผู้ด้อยโอกาส หากวัดปริมาณความไม่เท่าเทียมนี้คงไม่น้อยไปกว่าจำนวนชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับโอกาสด้านต่าง ๆ น้อยถึงน้อยที่สุด

 

รัตนา เจริญศรี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ อธิบายว่า กลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา อาจไม่ใช่เงินทอง แต่คือการส่งเสริมทักษะอาชีพซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่วิทยาลัยเราดำเนินการมาโดยตลอด เมื่อทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรับสมัครโครงการ จึงสนใจ เพราะเรามีข้อมูลอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วว่าเขาต้องการฝึกทักษะอาชีพด้านใดบ้าง

 

“จังหวัดตากมีผู้ด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ภาครัฐเข้าไม่ถึง ด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดน แต่วิทยาลัยชุมชนจังหวัดตากมีศูนย์และมีข้อมูลของทุกพื้นที่อยู่แล้ว รู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดีว่าเขาต้องการฝึกอาชีพด้านใด ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาทักษะอาชีพให้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานพอดี คิดว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก เพราะสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของวิทยาลัย”

 

สำหรับหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพที่วิทยาลัยชุมชนตากออกแบบไว้มี 3 หลักสูตรคือ 1. ช่างเชื่อมโลหะ 150 ชั่วโมง 2. นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง โดยทั้ง 2 หลักสูตรใช้สถานที่ในวิทยาลัยชุมชนตาก ส่วนหลักสูตรที่ 3. การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ ดำเนินการในพื้นที่อำเภออุ้มผาง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมทั้งสิ้น 100 คน แบ่งเป็นช่างเชื่อมโลหะ 40 คน นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 20 คน และแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฯ 40 คน เหตุผลที่กลุ่มเป้าหมายนวดแผนไทยมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอื่นเพราะเป็นการฝึกทักษะที่มีเรื่องของสุขภาพร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องฝึกแบบเข้มข้น

 

ส่วนการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย รัตนา เล่าว่า มาจากหลายส่วนประกอบกัน คือ ฐานข้อมูลเดิมของวิทยาลัย ภาคเครือข่ายการทำงานเดิม แกนนำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. โดยทีมทำงานจะลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในชุมชนเพื่อคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่สนใจพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว จนได้กลุ่มเป้าหมายครบ 100 คน มีทั้งคนพิการ คนว่างงาน แรงงานนอกระบบ เป็นต้น

 

  • ครู+ผู้ประกอบการในพื้นที่ “กลไก” สร้างทักษะอาชีพจังหวัดตาก

 

เมื่อได้หลักสูตรและกลุ่มเป้าหมายแล้ว ทีมงานจึงได้ออกแบบกระบวนการทำงาน โดยนำแนวคิดที่ได้รับจากทีมโค้ชมาใช้วางแผนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มต้นจากการออกแบบให้มีผู้รับผิดชอบกลุ่มทักษะอาชีพเพื่อความคล่องตัว โดยอาชีพช่างเชื่อมโลหะมี  อาจารย์ศิริชัย เทียนทอง และผู้ประกอบการร้านช่างเชื่อมในจังหวัด เป็นผู้ให้ความรู้ ส่วนกลุ่มนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ อาจารย์สุนีย์ ทวีกิจ และ นภัสรดา ใจชมภู ภูมิปัญญาแพทย์แผยไทย และเภสัชกรเป็นผู้ให้ความรู้ ขณะที่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอจะมี ยุพดี สิงหมณี เป็นผู้ให้ความรู้

 

รัตนา บอกว่า โชคดีที่เราได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบและผู้รู้ที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ โดยเฉพาะหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ ที่ครูผู้สอนจะต้องผ่านการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่วนที่ว่าทำไมต้องให้เภสัชกรเข้ามาให้ความรู้ เพราะหลักสูตรนวดแผนไทยเกี่ยวข้องกับเภสัชกรรม ยาประคบ สมุนไพร เพื่อให้ผู้อบรบมีความรู้นำไปทำผลิตภัณฑ์นวดต่างๆ เช่น น้ำมัน ลูกประคบ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง และที่สำคัญคือ การใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเองจะมีคุณภาพและสดใหม่กว่า”

 

ขณะที่ยุพดี ผู้รับผิดชอบการสอนแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ เล่าว่า พื้นที่ในอำเภออุ้มผางมีภูมิปัญญการทอผ้าปกาเกอะญอที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

 

ด้านวิชาชีพช่างเชื่อมโลหะ ก็ไม่แตกต่างกันคือวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยเทคนิคตากและผู้ประกอบการร้านเวกเจริญ ส่งอาจารย์และช่างเชื่อมโลหะฝีมือดีมาให้ความรู้ผู้เข้าอบรม ทำนองเดียวกับวิชาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ มีปราชญ์ชาวบ้านด้านผ้าพื้นเมืองของชาวปกาเกอะญอร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ผ้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากผ้าพื้นเมืองอันทรงคุณค่า ได้เพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ ภายใต้การรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านแม่กลองคี เช่น กระเป๋าสตางค์, หน้ากากผ้า, กระเป๋าหลายรูปแบบ, ผ้าคลุมเตียง, ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

 

รัตนา เล่าถึงกระบวนการเฟ้นหาผู้ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมอบรมทั้ง 100 คนว่าไม่ใช่ใครเดินมาสมัครแล้วรับหมด แต่ผ่านการคัดเลือกให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย คือต้องลงพื้นที่ไปดูว่ายากจนจริงหรือเปล่า ด้อยโอกาสจริงหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์จาก กสศ. เพื่อไม่ให้โอกาสนั้นเสียเปล่า โดยมีผู้นำชุมชนช่วยชี้เป้า และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่ที่รู้ข้อมูลดีที่สุด เช่น กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ มีคนสนใจเรียนค่อนข้างมาก โครงการต้องคัดคนที่เรียนจริง มีคุณสมบัติตรง

 

“เราทำโครงการมาเพื่อให้โอกาส พูดแล้วขนลุกนะ เราไม่แค่สำรวจกลุ่มอาชีพอย่างเดียว กลุ่มอนุปริญญาหลักสูตร 2 ปี ไปสำรวจพื้นที่มาแล้ว เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยคน เราช่วยได้ถูกคนจริง ๆ เขามีปัญหาจริง ๆ มีปัญหาในเรื่องครอบครัวและอาชีพจริง ๆ”

 

161154855221

 

  • สร้างอนาคตด้วยสองมือ

 

“พี่เป็นหมอนวดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใบอนุญาตค่ะ” บุญมาก จุ้ยเนียน กลุ่มเป้าหมายนวดไทยเพื่อสุขภาพ บอกถึงเหตุผลเรียบง่ายที่มาเข้าร่วมอบรมในวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ จุดเริ่มต้นการเป็นหมอนวดของเธอคือเคยไปนวดรักษาขา อาจารย์ที่รักษาสงสารที่เธอไม่มีงานทำ จึงถ่ายทอดวิชาให้ แต่การเป็นหมอนวดนิรนามไร้ซึ่งการรับรองทำให้ต้องประกอบอาชีพอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ

 

ในวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ ใบประกาศนียบัตรคือเครื่องหมายรับรองที่สำคัญมาก แต่การได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย

 

“พอดีมีโครงการนี้เปิดให้อบรม เลยสมัคร แล้วเขาก็เรียกตัวให้เข้าไปเรียน ก็ดีใจมาก เพราะเราต้องการใบนี้อยู่แล้วแต่เราจบแค่ ป.6 ทำให้เราไม่รู้ว่าจะไปเรียนหรือได้ใบจากที่ไหน ประสบการณ์เราก็มีไม่มาก ก็เหมือนเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ได้ห้าสิบบาท ร้อยบาทจากการนวด นวดใหม่ ๆ ได้ห้าสิบบาท ได้ระดับเป็นร้อยก็ประมาณปีที่ 2 กว่าจะมาพัฒนาตรงนี้ต้องใช้เวลา การที่เราได้มีโอกาสอยู่ตรงนี้ทำให้ได้ทักษะการนวด นวดแบบไหนที่ลูกค้าจะไม่เป็นอันตราย ต้องวัดความดัน ตอนนั้นเรายังไม่เคยมีการวัดความดันลูกค้า หากใครเป็นเบาหวานสูงเราจะไม่นวดให้”

 

สิรวีร์ อมรภีรสิทธิ์ กลุ่มเป้าหมายนวดไทยเพื่อสุขภาพ เป็นคนหนึ่งที่พลิกชีวิตจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นหมอนวดไทยเพื่อสุขภาพ คล้ายจะเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฝ่ามือ แต่ในเมื่อจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งด้วยสองมือของตัวเองเธอจึงรีบคว้าไว้

 

“เมื่อก่อนเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ต่อมาพ่อแม่เริ่มอายุมาก เริ่มป่วยพร้อมกันสอง คน ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาล เราก็ต้องออกมาดูแล พอเราออกจากอาจารย์ก็ไม่มีรายได้ ตอนแรกปี 2554 ได้มาฝึกการนวดกับพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ไม่ได้ใบประกาศนียบัตรจากสาธารณสุขจังหวัด เพราะตอนนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ พอเห็นโครงการฯ นี้เปิดรับสมัครจึงสนใจเพราะใกล้บ้าน อยากพัฒนาทักษะฝีมือตนเองและอยากได้ใบประกาศศนียบัตร เพื่อเป็นใบเบิกทาง”

 

ทั้งสองคนต่างมีประสบการณ์ในฐานะหมอนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพมาก่อน จึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ทว่าหลังจากฝึกอบรมเสร็จ สิรวีร์ บอกว่า สิ่งที่ได้รับกลับมามากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการนวดที่ดีขึ้น เพราะจะได้นำความรู้มานวดพ่อแม่ที่เจ็บป่วยและชราขึ้นทุกวัน ส่วนเรื่องรายได้ก็ไม่ได้คาดหวังมากนัก

 

“พ่อแม่อายุมากขึ้น การเดินเหินก็จะไม่ดี กล้ามเนื้อมันก็เริ่มแข็งตัวเราจะช่วยเขาอย่างไร พอมาเรียนแล้วมีความรู้สึกว่าอยากต่อยอดในเรื่องนวดในผู้สูงอายุ ที่นี่เขาให้การเรียนรู้แบบเป็นขั้นเป็นตอนนะ ทำให้เราทำได้ไม่ยากเย็นอะไร” สิรวีร์ กล่าว

 

ด้าน บุญมาก ที่คาดหวังไว้เพียงว่าต้องการใบประกาศเพื่อแสดงการมีตัวตน แน่นอนว่าการเข้าอบรมเหมือนการติดอาวุธเพิ่มเติม จากที่เคยนวดดีจนลูกค้าบอกกันปากต่อปาก หลังจากจบโครงการฯ ลูกค้ายิ่งชมกันไม่ขาดสาย ถึงขนาดมีเงินส่งลูกเรียนได้จากการนวดเลยทีเดียว

 

อีกคนที่เข้าร่วมโครงการ แต่มีเป้าหมายไกลถึงต่างแดน คือ ธนาวัน ปัญญาไว เธอต้องการใบประกาศนียบัตรเพื่อไปทำงานนวดแผนโบราณที่ประเทศออสเตรเลีย เพราะแต่งงานอยู่ที่นั่นแต่กฎหมายแรงงานไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีใบ Certificate ประกอบอาชีพร้านนวดแผนโบราณได้

 

“ที่ออสเตรเลียมีกฎหมายระบุเลยว่าถ้าไม่มีใบประกาศห้ามนวด และต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 150 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้ความรู้เรื่องการนวดเป็นศูนย์เลยค่ะ เรียนรู้อนาโตมี่เกี่ยวกับเส้นทุกอย่างในร่างกายเราจุดไหนที่สำคัญ รวมทั้งวัดความดัน ซักประวัติโรคไหนที่นวดไม่ได้ จริง ๆ เราไม่เคยรู้เลยถ้าเราไม่มาอยู่ตรงนี้เราไม่รู้เลยว่ามันอันตรายกับคนที่มานวดกับเรา”

 

นอกจากการทักษะการนวดและใบประกาศนียบัตร ความรู้ที่ควบคู่กันมาและเป็นโอกาสในวิชาชีพนี้ คือ ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร สิรวีร์ อธิบายว่าได้เรียนรู้การทำลูกประคบจากสมุนไพร ได้รู้วิธีการทำยาหม่อง ยาเขียว ซึ่งทำจากสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ไม่ยาก นำไปใช้ได้กับการนวด รวมทั้งนำไปจำหน่ายสร้างรายได้อีกทาง

 

“เขาสอนให้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สอนให้รู้จักสมุนไพรแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอะไร สอนวิธีทำว่าต้องทำอย่างไร โดยอาจารย์ที่สอนเขาจบด้านนี้โดยตรงด้านแพทย์แผนไทย

 

161154860443

 

  • เราต้อง ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

 

รัตนา บอกว่า ในกลุ่มเป้าหมายที่ฝึกการนวดไทยเพื่อสุขภาพมีน้องคนหนึ่งพิการทางการได้ยินชื่อ แอน หรือ ส่งศรี ต๊ะปัญญา แต่เขาสามารถสื่อสารได้โดยมีพี่เลี้ยง หรือคนในหมูบ้านช่วยดูแล ตอนแรกอาจารย์ผู้สอนก็กังวลใจว่าน้องจะเรียนรู้ได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระบบร่างกาย แต่พอคิดได้ว่าเขาก็เป็นคนด้อยโอกาสคนหนึ่ง ทีมงานจึงมีการประชุมกลุ่มวิทยากรเพื่อหารือกัน จนได้ข้อสรุปว่า ‘เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ จึงขอสัมภาษณ์แอนเพื่อดูความพร้อมทางร่างกายและความตั้งใจจริง โดยให้แอนได้ทดลองเรียนสักชั่วโมงสองชั่วโมง หากเขาสามารถเรียนรู้ได้ก็อนุญาตให้เรียน ผลปรากฏว่าแอนทำได้ดี จึงได้รับการฝึกอาชีพจนเรียนจบ และประกอบอาชีพนวดอยู่ที่บ้านที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

 

นภัสรดา เล่าว่า หลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพมีการฝึกอบรมทั้งสิ่น 150 ชั่วโมง กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและคนพิการทางการได้ยิน เหตุผลที่รับ เพราะคิดว่ามือเท้าเขาก็ดี จะน่าจะนวดได้ วิธีการสอนคือ ไปจับมือพาเขาทำ ให้คนที่เข้าใจช่วยสื่อสาร แต่เวลาเรียนเขาก็แยกกัน เราก็ใช้วิจารณญานของเราว่าควรจะสอนแบบไหนให้เขาจดจำเอาไปทำได้ ซึ่งสอนไม่ยาก เพราะคนกลุ่มนี้เขาจะจำแม่น ยิ่งคนตาพิการยิ่งจำแม่น อยากฝึกให้เขามีอาชีพไว้เลี้ยงดูตัวเองจะได้ไม่เป็นภาระกับครอบครัว

 

“ตอนแรกก็กังวลเหมือนกัน แต่ก็ปรึกษากับอาจารย์สาธารณสุขว่าสามารถสอนได้ไหม เพราะมีเรื่องสรีระร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง พอดีการเรียนการมีการใช้ภาพขึ้นจอ เขาก็จะเห็นภาพและใช้วิธีมองปากเอา ก็เข้าใจ แต่แอนเขาเก่ง หัวไว โดยตอนนี้แอนเรียนครบหลักสูตร 150 ชั่วโมงแล้ว และพาไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตอนนี้กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดของเรา 19 คน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว เหลืออยู่ 1 คนที่ขาดเรียนเพราะมีลูก แต่เราจะสอนซ่อมให้ครบชั่วโมงตามที่กำหนดไว้ เพราะฐานคิดของเราคือ เราต้องให้โอกาสเขา ถ้าเราไปตัดโอกาสเขา เขาก็ยิ่งขาดโอกาสไปใหญ่”

 

นภัสรดา บอกด้วยความภูมิใจว่า ลูกศิษย์ของเธอ 19 คน สามารถเปิดร้านนวดเองได้แล้ว 2 คน ที่เหลือเป็นฟรีแลนซ์วิ่งนวดอิสระอยู่ในชุมชน ได้ชั่วโมงละ 100-200 บาท ก็พอเลียงตัวเองแล้ว บางคนได้เป็นพันบาทต่อวันก็มี อยากบอกว่าอาชีพนวดเป็นอาชีพเดียวที่ยิ่งแก่ยิ่งเชี่ยวชาญ ไม่เหมือนอาชีพอื่นที่แก่แล้วทำไม่ได้

 

161154864390

 

  • เชื่อม…ชีวิต

 

มีคำกล่าวที่ว่า ‘ความยากจนมันน่ากลัว’ แต่กับบางคนแม้แต่ ‘งานทำ’ ก็ยังไม่มีด้วยซ้ำไป ถึงอายุจะไม่น้อยแล้ว แต่ นพดล สกุลเขมฤทัย กลุ่มเป้าหมายช่างเชื่อม มองว่าการ ‘ว่างงาน’ เป็นเสมือนตราประทับถึงความไม่น่าภาคภูมิใจ เขาจึงมองหาหนทางที่จะสร้างอาชีพให้ตัวเอง จนกระทั่งพบกับโครงการฯ นี้ และวิชาชีพช่างเชื่อมโลหะคือฐานที่มั่นที่เขาจะฝากอนาคตไว้

 

“ผมอยากเรียน อยากได้ความรู้ อยากได้ใบประกอบอาชีพ ตอนที่เพื่อน ๆ มาบอกว่ามีโครงการนี้ ผมก็ดีใจที่จะได้มีงานทำแล้ว เพราะตอนนี้อยากจะปลีกตัวเองออกมาหางานอิสระทำ นี่เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ต่อไปเราก็ไปต่อยอดคนเดียว เขาสอนให้เราบิน จะบินแค่ไหน อยู่ที่เราว่าจะขยันแค่ไหน จะพัฒนาไหม ถ้าขยันพัฒนาก็จะทำงานกับคนอื่นเขาได้”

 

ไม่เพียงแต่รุ่นใหญ่เท่านั้นที่สนใจการประกอบอาชีพช่างเชื่อมโลหะ เด็กรุ่นใหม่อย่าง ทักษ์ดนัย ทับแป้น และ วรรชนะ นะวะแก้ว ก็เลือกเรียนวิชาชีพนี้เหมือนกัน ทีแรกทั้งสองคนมองเพียงว่าจะนำความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ เช่น ซ่อมรถให้เพื่อน แต่ตลอด 150 ชั่วโมง ที่พวกเขาเคี่ยวกรำ จากไม่มีความรู้งานช่างเชื่อมโลหะเลยแม้แต่น้อย ในที่สุดทักษะที่ได้กลับกลายเป็นงานซึ่งจะสร้างรายได้ให้พวกเขาต่อไป

 

จะเห็นว่างานเชื่อมขยายออกเป็นงานได้ค่อนข้างหลากหลายมาก นพดล บอกว่า หากฝึกฝนจนชำนาญ งานเชื่อมทำได้กว้างมาก จะเพื่องานก่อสร้างก็ได้ เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็ดี หรือจะประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ที่สำคัญคือช่วยสร้างรายได้อย่างงอกงาม

 

“ผมทำเอาความรู้มาพัฒนาทำนั่นทำนี่ มีงานชิ้นเล็กๆ ผมก็ทำไป ผมอยู่ตลาดตรงนี้ ก็มีทำขาโต๊ะบ้างอะไรบ้าง เพราะถ้าเราไปจ้างช่างมาทำก็เปลืองเงิน สู้ทำเองดีกว่าเสียเงินน้อยหน่อย ตั้งแต่ผมทำเป็นก็มีงานไหลเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะรับเยอะ แต่ก็มีพอเป็นรายได้เสริมในแต่ละเดือนเพราะเราไม่ได้รับงานเยอะ ทำชิ้นนี้สักสองสามวันโอเคๆ พักก่อน อีกสองสามวันส่งงานและก็รับสตางค์ พอมีงานไหลเข้ามาเราก็เอาเวลาว่างมาทำชิ้นงาน ทุกวันนี้ผมตื่นตีสองครึ่งแต่สองทุ่มนี่ผมรีบนอนเพราะตีสองครึ่งก็ต้องตื่นอีกแล้ว”

 

นอกจากได้ความรู้มาประกอบอาชีพแล้ว นพดลยังเผื่อแผ่ถึงคนอื่น เขาตั้งปณิธานกับตัวเองแล้วว่าถ้ามีคนสนใจจะเรียนรู้วิธีเชื่อมโลหะ ก็จะสอนให้ รวมถึงจะยืมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ก็ยินดีให้หยิบยืม

 

เพราะโอกาสที่เขาได้รับมาก็เกิดจากมีคนมอบให้เช่นกัน เขาจึงต้องการเป็นผู้ให้ และหวังว่าจะมีคนที่ได้รับความรู้จากเขานำไปต่อยอดอีกเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

 

161154867077

 

  • ทำไปเรียนรู้ไป

 

“กสศ.เชิญประชุมบ่อยมาก แต่เราก็ไปทุกครั้งและไปครั้งละหลายคน เพราะคิดว่าการที่เราทำงานแบบนี้เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จริง ๆ เราไม่อยากให้ทีมงานไปร่วมประชุมเท่านั้น อยากให้คนอื่นได้ไปด้วย เพื่อให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้รับมาเสริมการทำงานให้ดีขึ้น” รัตนา บอกและเล่าต่อว่า ทุกครั้งที่ไปอบรมกับ กสศ. กลับมา เธอจะจัดประชุมถ่ายทอดความารู้ที่ได้รัยจากการประชุมให้ทุกคนรับรู้ บางครั้งก็อัดเสียงมาให้ฟังก็มี และยังมีการวิเคราะห์ทีมงานด้วยว่าใครควรไปช่วงไหนอย่างไร เช่น ถ้ามีการอบรมเกี่ยวกับการเงินก็ให้น้องการเงินไป ยอมรับว่าการอบรมกับ กสศ.ทำให้เราได้รับความรู้ใหม่กลับมาทุกครั้ง

 

รัตนา บอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการติดตามผลการทำงานอย่างใกล้ชิดกันเป็นทอด ๆ  ทั้งทางโทรศัพท์และกลุ่มไลน์ คือทีมโค้ชติดตามทีมงาน และทีมงานก็ไปติดตามกลุ่มเป้าหมายอีกที กลายเป็นการหนุนเสริมการทำงานกันไปโดยไม่รู้ตัว เช่น บางครั้งกลุ่มเป้าหมายก็ไลน์มาบอกว่า “วันนี้ได้นวดแล้วนะ วันนี้หาตังค์ได้แล้ว คนนี้เตรียมไปต่างประเทศ คนนี้ปรับบ้านของตัวเองให้เป็นที่นวดแล้ว ส่วนกลุ่มที่ทำกระเป๋าก็ไลน์มาบอกว่ามีเดอร์เข้ามากมารับไม่ทัน”  ซึ่งการติดตามเช่นนี้ทำให้ทีมงานมองเห็นแนวทางการหนุนเสริมความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การรวมกลุ่มกันเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่เคยสนใจเรื่องนี้ แต่โครงการฯ นี้ทำให้เราเห็นว่าการพัฒนาอาชีพจะเกิดประโยชน์มากที่สุด เราต้องหนุนเสริมเขาให้สุดทาง

 

อาจารย์ศิริชัย ย้ำว่า จุดเปลี่ยนของการทำโครงการฯ นี้คือ ผู้สอนต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นให้ได้ ให้เห็นว่าเราเอาจริง หลังจากที่เขาศรัทธาแล้วเราป้อนอะไรก็ได้ เขาก็พร้อมรับความรู้ แต่เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราเอาจริงเอาจัง เราไม่ใช่มาทำเล่น ๆ เหมือนที่ผ่านมา

 

อาจารย์ศิริชัย บอกว่า การฝึกอบรมทำให้คนมีความรู้ก็จริง แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองยังมีไม่มากพอ และคนจ้างก็ยังไม่เชื่อมั่นด้วย เขาต้องหาประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่เราคิดทำในโครงการฯ นี้ก็คือ เราต้องฝึกให้เขาคิดให้ครบ ถ้าฝึกไม่ครบโอกาสที่เขาจะเดินต่อไปข้างหน้าจะยากมาก ถ้าเราสามารถทำงานร่วมกับสถานประกบอการ ให้เขาได้ทำงานร่วมกัน ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน อย่างน้อยเขาก็จะรู้ว่าเด็กคนนี้เคยผ่านการฝึกทักษะมาแล้ว เวลาซื้อของก็อาจจะแนะนำได้ เราไม่ได้ฝึกทักษะอย่างเดียว แต่เราฝึกให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เราเป็นหน่วยพัฒนาอาชีพ ถ้าเราไม่เชื่อมโยงให้เขา เขาไปไม่ถึงหรอก จะให้กลุ่มเป้าหมายไปเป็นเถ้าแก่ เขาเข้าไม่ถึงหรอก เพราะมันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง

 

ก่อนสอนวิชาชีพ เราต้องสอนคุณธรรม จริยธรรมก่อน การทำงาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะแต่ละคนแตกต่างกันมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ให้เรื่องนี้โอกาสที่เขาจะไปเป็นช่างที่มีคุณภาพ หรืออาชีพอื่นๆ ที่มีคุณภาพก็ค่อนข้างยาก ในความรู้สึกผม ผมว่า ‘กสศ.ทำหน้าที่แนะแนวชีวิต’ ให้คน” อาจารย์ศิริชัย ย้ำ

 

ข้อดีโครงการฯ นี้คือ การมีทีมโค้ชให้คอยปรึกษาได้ทุกเวลา มีปัญหาเราสามารถปรึกษาได้ตลอดเวลา เมื่อก่อนเราอบรมอะไรมาแล้วก็ทิ้ง แต่โครงการฯ นี้พอมีปัญหาก็รีบปรึกษาและก็ได้รับคำชี้แนะทุกครั้งทั้งจาก กสศ. ทีมบริหารจัดการโครงการกลาง รวมถึงทีมโค้ช ถือว่าเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์มากที่ทำให้เรา ได้เรียนรู้วิธีทำงานใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม

 

ด้าน อารักษ์ อนุชปรีดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตาก เสริมว่า เขามีแนวคิดจะทำผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในจังหวัดตากให้เป็น ‘แบรนด์ของจังหวัดตาก’ มีโลโก้ วชช. และ กสศ. อยู่ด้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของจังหวัด โดยอาจจะจัดให้มีโชว์รูมของจังหวัดที่นำผลิตภัณฑ์ของ วชช. กสศ.หรือหน่วยงานอื่น ๆ ไปตั้งขาย ซึ่งเราก็มีผู้ประกอบการเป็นเครือข่ายอยู่แล้วน่าจะทำได้ไม่ยาก

 

“โครงการฯ นี้เป็นเหมือน ‘Fast Track’ การมี กสศ.เหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้การฝึกทักษะอาชีพของวิทยาลัยชุมชนก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการมีที่ปรึกษา มีทีมโค้ชนี่สำคัญมาก ถ้าไม่มีคนมีคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา ทีมงานอาจจะถอยแล้วก็ได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดเด่นขอโครงการฯ นี้”

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/919032

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *