WHO เผย ผู้คนอายุยืนขึ้น-ผู้พิการเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

Person with disability

Person with disability

 

รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผย ผู้คนในปัจจุบันมีอายุยืนขึ้นหกปีเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็มีผู้พิการซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้นจาก 67 ปีเมื่อปี ค.ศ. 2000 เป็น 73 ปีในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการเสียชีวิตจากโรคติดต่อต่ำลง เช่น ภาวะโรคเอดส์ที่เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับที่แปดในปี ค.ศ. 2000 ได้ลดอันดับลงเป็นอันดับที่ 19 ในปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้ วัณโรคยังไม่ติดสิบอันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตอีกต่อไป โดยลดลงจากอันดับเจ็ดไปอยู่อันดับที่ 13 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างคือ โรคไม่ติดต่อเข้ามาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักแทนที่โรคติดต่อ โดยโรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ซามิรา แอสมา แห่งฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล (Division of Data, Analytics and Delivery for Impact) ของ WHO ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยเมื่อปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตเกือบ 9 ล้านคน

 

Heart Disease

Heart Disease

 

นอกจากนี้ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทยังทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ติดอันดับสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุดสิบอันดับแรก โดยผู้เสียชีวิต 65 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง

 

รายงานของ WHO ยังระบุด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ชายเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด รายงานยังระบุด้วยว่า ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

เบนเต มิคเคลเซน ผู้อำนวยการฝ่ายโรคไม่ติดต่อของ WHO ระบุว่า โรคไม่ติดต่อยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศที่มีรายได้สูงที่ประชาชนมักเจ็บป่วยจากการใช้ยาสูบ การเสพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด และโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อก่อนวัยอันควรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กลับเกิดขึ้นกับประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

 

เบนเต มิคเคลเซนอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่สามารถปรับและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ และมักมีระบบสาธารณสุขที่ไม่พร้อมตอบสนองต่อการรักษาโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอด ทำให้มีอัตราเสียชีวิตที่สูง

 

รายงานฉบับนี้ยังพบด้วยว่า มีผู้พิการเพิ่มมากขึ้นจากโรคและเงื่อนไขทางสุขภาพ นอกจากนี้ อุบัติเหตุยังเป็นสาเหตุหลักของความพิการและการเสียชีวิต โดยการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ในภูมิภาคแอฟริกา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และเพิ่มขึ้นราว 40 เปอร์เซ็นต์ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก โดยผู้รับเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

 

การใช้ยาเสพติดในทวีปอเมริกายังเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาในช่วงปี ค.ศ. 2000 -2019 มากขึ้นเกือบสามเท่าในภูมิภาคดังกล่าว

 

ทั้งนี้ WHO วางแผนจะประเมินผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของโรคระบาดโควิด-19 ต่อการเสียชีวิตและความพิการในรายงานฉบับต่อไป

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.voathai.com/a/world-health-organization-global-health-estimates/5694868.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *