ThisAble.Me มากกว่าเวลาคือเงินทองและโอกาสของคนพิการที่หายไปในการเดินทาง : สว่าง ศรีสม

 

“เวลาที่เราพูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเรามักจะไม่ค่อยพูดถึงมิติด้านเวลาซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับทุกคน คนพิการเวลาของเขาก็มีค่า ในขณะที่คนทั่วไปถ้าถามว่าให้ไปใช้แบบนั้นแล้วจะใช้มั้ยก็ไม่ใช้”

 

ในฐานะคนทำงานกับคนพิการ สิ่งนึงที่เราพอเข้าใจได้คือเวลา การเดินทางในกรุงเทพมหานครกับคนพิการทำให้ผมเห็นปัญหา ฟุตบาทที่ไม่เรียบทำให้เราเดินทางยาก บางจุดไม่มีลิฟต์ก็ต้องอ้อม มีสิ่งกีดขวางก็ต้องลงไปเดินถนน จากการเดินทางที่ใช้เวลาเดินได้ใน 10 นาที ขยับเป็น ครึ่งชั่วโมง เดินทางไปนัดหมายในเวลาหนึ่งชั่วโมงอาจใช้เวลาสองชั่วโมง ไม่รวมรถติด หากใช้ขนส่งสาธารณะยิ่งควรบวกเวลาเพิ่ม รอรถเมล์ชานต่ำสักสายต้องใช้เวลา

 

เรานัดเจอ สว่าง ศรีสม เขาเป็นผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ หรือ Transportation For All (T4A)  ขับเคลื่อนงานด้านขนส่งสาธารณะ สว่างมีสารตั้งต้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัว เขามองเห็นปัญหาเรื่องคนพิการกับการเดินทาง ในต่างประเทศคนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ เพราะมีขนส่งสาธารณะที่ดี เขาตั้งมั่นอยากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ในไทย เขาเล่าให้เราฟังถึงฝันที่คนพิการเดินทางได้ และเขาบอกว่าจะทำให้มันเป็นจริง เราชวนเขาคุยว่าในแต่ละวันคนพิการใช้เวลามากขนาดไหน พวกเขาสูญเสียอะไรไปบ้าง ที่มีมากกว่าเรื่องของเวลาที่ใช้ในการเดินทาง

 

 

คุณใช้เวลาการเดินทางมากขนาดไหน

 

สว่าง : ถ้าเป็นในอดีตอย่างเช่นผมที่ต้องใช้แท็กซี่ การจะเดินทางไปไหนไม่ว่าจะเรียกรถหรือโทรเรียกก็ใช้เวลานานมาก แต่ปัจจุบันมีแอปก็ช่วยได้ทำให้เรียกได้ไวขึ้น ถ้าเป็นเรื่องของการเดินทางในภาพรวมเวลาที่เราจะไปที่ใดก็แล้วแต่ต้องวางแผน โดยเฉพาะเมื่อเราจะไปที่ใหม่ ๆ ผมต้องวางแผนว่าจะเดินทางยังไง จะไปรถแท็กซี่อย่างเดียว หรือรถแท็กซี่แล้วไปต่อรถไฟฟ้า แล้วรถไฟฟ้าก็ต้องดูด้วยว่าเป็นสถานีที่เราจะต้องไปเสียเวลาเพิ่มอีกมั้ย เช่น ไปรอลิฟต์ที่ปิด ไม่เปิด ซึ่งก็ทำให้เราเสียเวลาแต่ละจุดพอสมควร พอลงรถไฟฟ้าก็ต้องดูอีกว่าที่ที่เราจะไปเราเข็นรถไปได้มั้ยหรือว่าต้องเรียกรถอีก ก็มีเวลาเพิ่มเข้ามา ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มเข้ามาอีก

 

เคยไปหาญาติแถว ๆ รัชดา ผมต้องนั่งรถแท็กซี่แล้วไปต่อรถไฟฟ้ามาลงแถวรัชดาและเรียกแท็กซี่เข้าไปอีก ใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะรถติด กว่าที่จะไปหาญาติ บางทีนัดเวลากันไว้เท่านี้แต่สุดท้ายก็ใช้เวลามากกว่าที่ควรจะเป็น จากที่จะไปทำอะไรบางอย่างก็ไปไม่ทัน ก็เกิดปัญหาว่าการที่เราใช้เวลากับการเดินทางมากเกินไปทำให้เราพลาดอะไรไปเหมือนกัน แม้แต่เรื่องที่เราจะใช้เวลากับคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องบางทีก็ทำให้เราเสียโอกาสไป

 

การเดินทางสักครั้งต้องประเมินอะไรบ้าง

 

ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะประหยัดหรือไม่ ถ้าต้องการประหยัดผมก็พยายามใช้รถไฟฟ้าไปให้ใกล้สถานที่นั้นมากที่สุดและค่อยเรียกแท็กซี่ไปต่อ ถ้าไม่ใช่แท็กซี่ก็อยากลองรถเมล์แต่ค่อนข้างที่จะใช้งานยาก เพราะบางทีรถเมล์ก็ไม่สามารถจอดเทียบได้ จะมีรถแท็กซี่หรือรถอื่น ๆ มาจอดรับผู้โดยสาร ซึ่งก็เกะกะขวางทางทำให้รถเมล์จอดที่ป้ายไม่ได้ เราก็ไม่สามารถเข็นรถจากฟุตบาทไปบนถนนได้เหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นทางเลือกผมไม่มีอย่างอื่น มีอยู่สองอย่างก็คือถ้าไม่ใช้แท็กซี่ก็ซื้อรถ

 

ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เสียเวลามาก ๆ ผมขอยกมาสองตัวอย่างทั้งในไทยและต่างประเทศ ในไทยผมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบ่อยและจะมีบางสถานีที่ลิฟต์ล็อค ไม่สามารถที่จะใช้งานได้ พอเวลาที่เราไปถึงเขาก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ให้เราโทรไป บางทีโทรไปแล้วไม่มีคนรับ วันนั้นผมจำได้ว่าผมรออยู่ชั่วโมงนึง รอเพื่อที่จะลงไปข้างล่าง ฝนก็กำลังจะตก สุดท้ายก็ไม่มีใครมาเปิดลิฟต์ให้ ผมต้องไปแท็กซี่เสียเวลาไปชั่วโมงนึงฟรี ๆ โดยที่ไม่ได้ไปไหนเลย ผมพยายามที่จะบอกทางผู้รับผิดชอบเหมือนกันว่าถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้ปิดลิฟต์ ถามว่าเขามีเหตุผลที่จะปิดไหม เขาบอกว่ามี อย่างเช่นบางที่มีคนเข้าไปสูบบุหรี่ในลิฟต์ หรือบางที่ที่มีคนจรจัดอยู่บางทีคนจรจัดก็อาจจะเข้ามาขับถ่ายในลิฟต์ เราก็เข้าใจเขา เลยทำให้เขาต้องล็อคลิฟต์บางช่วงเวลาแล้วถ้ามีคนพิการมาถึงจะเปิดให้ แต่ว่าก็ไม่ค่อยสะดวก

 

อีกอันที่เสียเวลาเหมือนกันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกาหลี จำได้ว่าไปงานประชุม เราก็อยากไปเที่ยวที่ตลาดเมียงดงก็ไปกับเพื่อนสองคน ไปด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน พอเราไปถึงปรากฏว่าเป็นสแตร์ลิฟต์ (Stairlift) ลิฟต์แบบเกาะราวบันได ซึ่งตอนนั้นเราอยู่ชั้น B3 เจ้าหน้าที่ก็พาเราไต่ขึ้นมาทีละนิดจาก B3 มา B2 มา B1 แล้วก็ขึ้นมาถึงชั้นระดับถนน คนละครึ่งชั่วโมง สองคนก็หนึ่งชั่วโมงถึงจะได้ออกมาเที่ยวที่ตลาด ใช้เวลานานมาก ผมก็คิดว่าขากลับต้องแบบนี้อีก พอมาเจอแบบนี้เราก็ไปใช้แท็กซี่ดีกว่า เราก็ต้องเสียตังค์มากกว่าคนทั่วไปอีก

 

บางทีการมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องเวลาผมคิดว่าเราไม่ควรเอามาใช้ เวลาที่เราพูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเรามักจะไม่ค่อยพูดถึงมิติด้านเวลาซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับทุกคน คนพิการเวลาของเขาก็มีค่า ในขณะที่คนทั่วไปถ้าถามว่าให้ไปใช้แบบนั้นแล้วจะใช้มั้ยก็ไม่ใช้ คุณก็เดินขึ้นบันไดหรือถ้ามีลิฟต์ก็ใช้ลิฟต์ ไม่มีใครอยากเสียเวลาชั่วโมงนึงแค่ขึ้นลงอย่างเดียว

 

 

รู้สึกไหมว่าการเป็นคนพิการต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากกว่าคนอื่น

 

แน่นอน เพราะว่าการจะไปที่ใดที่หนึ่งต้องวางแผนพอสมควร ไม่ใช่แค่เรื่องของจะเดินทางยังไง แต่พอไปถึงแล้วต้องคิดว่าห้องน้ำมีไหม มีบันไดไหมต้องขึ้นลงยังไง จะหาคนมาช่วยยังไง ต้องวางแผนพอสมควร อย่างเวลาเราไปเที่ยวสมมติว่าเราไปต่างจังหวัดจองโรงแรม เราจะโทรไปเช็คว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกไหม มีทางลาดไหม บางทีคนที่ให้ข้อมูลก็ไม่คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ เขาจะให้ข้อมูลเรามาผิด ๆ ถูก ๆ บางที่บอกว่าได้แต่พอเราไปจริงกลับไม่ได้ ผมเคยไปแล้วเสียเงินไปฟรี ๆ เฉียดหมื่น โดยที่เราก็เข้าพักไม่ได้ก็เสียเวลา เราไปรู้เอาตอนที่ไปถึงแล้วไม่ใช่ว่ารู้ล่วงหน้า เราพยายามโทรถามเขา ดูรูปเท่าที่มีอยู่ ปรากฏว่าพอไปถึงก็เป็นอีกแบบนึง ลำบากมากเราต้องไปหาที่พักใหม่ ก็เซ็ง อุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกลไปถึงก็พักไม่ได้

 

ถ้าถามว่าขนส่งสาธารณะมีผลมากมั้ย ก็ต้องบอกว่ามีแน่นอน สำคัญที่สุดคือค่าใช้จ่าย ไม่มีใครอยากจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเยอะ ตอนผมเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ขณะที่เพื่อนไปรถเมล์ ผมไปรถแท็กซี่ ผมถามค่ารถเขาว่าไปกลับวันนึงกี่บาท 20 บาท ในขณะที่ผม 200 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อยถึงจพะไปกลับได้ เรารู้สึกว่าส่วนต่าง 80 บาทที่เป็น 5 เท่าของเขา ถ้าเราสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ก็เอาไปทำอะไรได้อีกเยอะ ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือมีเงินเก็บ ตอนที่เราทำงานใหม่ ๆ เงินเดือนก็ไม่ได้เยอะแต่ต้องมาหมดกับการเดินทาง

 

สองคือเรื่องของเวลา แน่นอนเราใช้เวลาเดินทางมากกว่าคนทั่วไปต้องวางแผน การใช้แท็กซี่อย่านึกว่าแค่เรียกแล้วก็มา บางทีมาถึงแล้วดันไม่รับเราเพราะเห็นว่านั่งรถเข็น หรือบางทีเราเรียกมาคนที่อยู่ตรงนั้นก็วิ่งขึ้นหน้าตาเฉย มีบางวันผมแทบจะร้องไห้ เราไปทำงานแล้วฝนตก เราเรียกรถมาแต่ถูกใครไม่รู้วิ่งตัดหน้าแล้วฉกไป ซึ่งแน่นอนว่าแท็กซี่เขาต้องรับคนที่เดินเหินสะดวก เขาก็เลือกแบบนั้นเพราะมันง่าย ไม่ต้องมาช่วยยกรถเข็น ซึ่งผมมองว่าบางทีเรื่องของมารยาทในการอยู่ร่วมกันของสังคมไทยก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการเดินทางของคนพิการขึ้นมา เช่นการแย่งใช้รถทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนเรียก

 

แม้กระทั่งในปัจจุบันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นอย่างรถไฟฟ้าที่มีลิฟต์ให้ แต่สิ่งที่ผมพบคือมีคนมาแย่งใช้ลิฟต์ หลังเริ่มเป็นเด็กมัธยมมากขึ้น ซึ่งผมอยากจะบอกน้อง ๆ ว่า ถ้าเรายังแข็งแรงเดินได้อยู่ เราเห็นคนที่มีความจำเป็นต้องใช้มาเราควรจะต้องออกจากลิฟต์ ให้คนที่มีความจำเป็นต้องใช้ได้ใช้ ผมพึ่งเจอเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ ผมจะไปประชุมที่นึง เราวางแผนว่าถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้ายังไงก็ทัน แต่เจอเหตุการณ์คนวิ่งเข้าไปในลิฟต์โดยที่ไม่สนใจเรา แล้วคนที่เข้าไปก็กดมือถือไม่ได้สนใจใคร เราต้องรอลิฟต์มาใหม่ พอเราได้ลงไปปรากฏว่ารถไฟไปแล้ว จากนั้นก็มีขบวนใหม่มาแต่ขบวนนั้นไม่ให้บริการ ปรากฏว่าไปสาย เรื่องแบบนี้ที่ทำให้เราเสียเวลา บางทีเกิดจากตัวระบบบ้าง ตัวคนบ้างที่ทำให้เราเสียเวลามากกว่าคนทั่วไป

 

ผมเคยชวนนักศึกษาจากม.รังสิตมาทำกิจกรรม อยากให้เขาเป็นคนพิการลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้าดูบ้าง ทุกคนพูดเหมือนกันว่าถ้าเดินทางด้วยวิธีที่ไม่ใช่คนพิการเขาใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง แต่พอเขาลองมานั่งรถเข็นกลายเป็นสองชั่วโมงได้ยังไงไม่รู้ ซึ่งเขาก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง บางทีคนทั่วไปที่ผ่านมาเห็นว่ามีลิฟต์ก็คิดว่าสะดวก บางคนคิดว่าใช้ได้แต่ในความเป็นจริงมีลิฟต์แค่ข้างเดียว เขาไม่ใช่คนพิการที่ใช้ระบบนี้เป็นประจำเขาก็ไม่รู้ เขาก็นึกว่ามีลิฟต์อยู่แล้วก็ใช้ได้ แต่วันหนึ่งที่เขาลองมาใช้จริงแล้วพบว่าข้างที่อยากจะลงไม่มีลิฟต์ ทำให้เขาต้องข้ามถนนบางทีอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เสี่ยงข้าม หรือหาคนมาช่วย จุดนี้อาจจะเพิ่มมา 5 นาที 3 นาที 10 นาที บวกกันเข้าไปกลายเป็นเวลาที่เพิ่มขึ้น เรารู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนพิการเท่าไหร่

 

 

แล้วคนพิการคนอื่นเดินทางยังไง

 

ส่วนใหญ่คนพิการที่ไม่ได้ขับรถเองก็จำเป็นต้องใช้ขนส่งสาธารณะ คนพิการหลายประเภทไม่สามารถขับรถเองได้ เช่น คนตาบอด เขาเลยต้องมาพึ่งพาขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาที่รถไฟฟ้ายังไม่เยอะ เขาไปใช้รถแท็กซี่ก็เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ แต่พอมีรถไฟฟ้าก็สะดวกขึ้น

 

ผมมีเพื่อนที่พิการรุนแรงใช้รถเข็นไฟฟ้า การที่เขาจะออกจากบ้าน เรียกแท็กซี่ ขึ้นรถไฟฟ้าก็เป็นความลำบากอีกแบบหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการเดินทางที่ตอบโจทย์เขา อย่างคนที่ใช้รถเข็นไฟฟ้าการที่จะขึ้นรถแท็กซี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่ต้องมียานพาหนะที่เขาใช้ได้ออกมาให้บริการซึ่งบ้านเรามีน้อย รถแท็กซี่ กทม.ก็มีจำนวนจำกัดต้องโทรไปจอง ซึ่งวิธีการใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ไปได้แค่บางสถานที่จะไปที่ไกล ๆ ก็ไม่ได้

 

เคยคิดจะไม่ไปไหน เพราะขนส่งสาธารณะบ้างไหม

 

จริง ๆ ไม่เคยตัดสินใจที่จะไม่ไปด้วยเหตุนั้น แต่เราจะลดการเดินทาง ถ้าผมจะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่ว ๆ ไปไม่ได้แน่นอน ตอนที่ทำงานผมสังเกตุว่าพอเพื่อนเลิกงานเขาก็เดินเที่ยวห้าง แวะไปหาเพื่อนที่หมู่บ้านนี้ แวะซื้อของที่หมู่บ้านนี้ ไปออกกำลังกาย บางคนทำธุรกิจเสริมเดินทางไปหาลูกค้าตรงนี้ ถามว่าคนพิการจะทำอย่างนั้นได้มั้ย ก็ทำไม่ได้ ผมเคยลองทำแล้ววันนึงต้องจ่ายค่าแท็กซี่ไปพันกว่าบาท เลยทำให้เราพยายามที่จะจำกัดการเดินทางของเรา ปัญหาคือเราไม่ได้เติมเต็มชีวิตของเรา แทนที่จะไปหาเพื่อน ทำอาชีพเสริม ออกกำลังกายหลังเลิกงาน แทนที่เราจะได้ไปทำอย่างอื่นที่ทำให้เรามีโอกาสพบปะสังสรรค์ กิจกรรมพวกนี้หายไปจากชีวิตเรา ทำให้ชีวิตไม่มีสีสัน แต่ถ้าจะทำก็ต้องใช้เงินเยอะซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำถ้าต้องใช้เวลาหรือเงินขนาดนั้น

 

แน่นอนว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ แล้วคนพิการหลายคนไม่มีอาชีพ หรือถ้ามีอาชีพก็เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่เยอะ รวมทั้งสภาพยานพาหนะ สภาพเมือง หลาย ๆ อย่างรวมกันทำให้การที่คนพิการจะตัดสินใจเดินทางไปที่ไหนสักแห่งต้องใช้ความคิดเยอะ สุดท้ายเขาก็จะตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกเหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ผมจำได้ว่าตื่นเช้าไปทำงานกลับบ้าน แล้วก็อาจจะเข็น ๆ อยู่แถวบ้านแถวตลาด แค่นั้น ไม่เคยได้ไปเหมือนที่คนอื่นเขาไป บางทีอยากไปหาเพื่อนก็ไม่ได้

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการมองเห็นปัญหา

 

ผมเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ช่วงปี 46 มาอยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ แน่นอนว่าตรงนั้นก็มีรถไฟฟ้าสายหนึ่งผ่าน ตอนนั้นเราจำได้ว่าได้แต่มองไม่สามารถขึ้นได้ เราก็เสียค่าใช้จ่ายกับแท๊กซี่ไปหมดแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเรา พอทำงานไปสักพักเราก็เห็นกลุ่มผู้นำพากันลงถนนประท้วงเราก็สนใจอยากไปด้วย ครั้งแรกผมก็ลางานไปร่วมม๊อบกับเขาเป็นส่วนหนึ่งกับเขา คือช่วงที่ประสบการณ์ยังไม่มากเราก็แค่อยากเรียนรู้ ก็ได้เห็นการต่อสู้ที่นานมาก เพราะตอนนั้นช่วงปี 46 จนมาได้ลิฟต์เมื่อปี 58 แต่จริง ๆ มีก่อนหน้านั้นประมาณ 30 ปี ผมเข้ามาในช่วงประมาณ 20 ปี จำได้ว่าทั้งประท้วง เข้าไปพบ จัดประชุม ออกสื่อ ทั้งด่าทั้งชม ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เคยมีบางคนบอกว่า ‘คนพิการเป็นคนส่วนน้อยเอาไว้ที่หลังได้มั้ย คนทั่วไปเขามีปัญหาเยอะกว่า’ หรือบางทีนักการเมืองก็พูดให้เราฟัง ทัศนคติในช่วงนั้นก็จะเป็นแบบนี้

 

บางทีผมก็เกิดคำถามว่า อย่างผมตอนอายุ 7 ขวบ ผมควรจะต้องเรียนหนังสือ ควรจะได้เข้า ป.1 ผมรอไปอีก 10 ปีแล้วค่อยเข้า ป.1 ได้มั้ย ก็ไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในการที่เราจะทำความเข้าใจกับสังคม พอทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ก็พบว่า 10 ปีผ่านไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเราก็เริ่มเล่นแรงขึ้นมีการไปฟ้องศาลปกครอง จำได้ว่าตอนไปฟ้องเราพากันนั่งรถเมล์จากอนุสาวรีย์ไปศาลปกครอง อาจจะเป็นในเชิงสัญลักษณ์นิดนึง ผมก็รู้สึกสนุกดีที่ได้ทำอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ แต่จากวันนั้นก็ผ่านมาหลายปี ขึ้นศาลศาลก็พิพากษาว่าตอนที่เขาเซ็นสัญญาก่อนสร้างกฎหมายคนพิการยังไม่มีเราจะเอาผิดเขาไม่ได้ ก็ยืดระยะเวลาไปอีก แทนที่จะได้ตัดสินก็กลายเป็นต่อสู้กันใหม่ ก็เป็น 10 ปีอีกที่กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องขอบคุณเขาที่สุดท้ายตัดสินใจเพิ่มลิฟต์ให้ ก็ทำให้การเดินทางของเราดีขึ้น

 

ผมคิดว่าผมเข้ามาในกรุงเทพฯ ในช่วงที่ค่อนข้างดี เพราะผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงที่ลำบากสุด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกแบบ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายที่เมื่อก่อนผมใช้เป็นหลักหมื่นต่อเดือน ทุกวันนี้เหลือพันกว่าบาท ลดไป 80% – 90% หลังจากที่มีรถไฟฟ้า เรารู้สึกว่าควรจะมีมาตั้งนานแล้ว ผมเคยมีเพื่อนคนนึงที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ถ้าเขามาทำตอนนี้เขาคงไม่ต้องลาออก เพราะตอนที่เขามาทำเขาอยู่สุขุมวิทไปกลับวันละ 500 บาท เพราะรถติด สุดท้ายเขาทำงานไม่ไหวต้องลาออกกลับไปอยู่ที่บ้าน ก็เสียโอกาสมาก ๆ

 

มีเรื่องอื่นในชีวิตอีกไหมที่รู้สึกว่าเสียโิอกาส

 

มีอยู่เรื่องนึงที่คาใจผมมาตั้งแต่เด็ก คือ เรื่องการศึกษาของตัวเองที่ผมรู้สึกว่าเสียไปโดยที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ตอนนั้นที่เข้าเรียนมัธยมผมจำได้ว่าสอบเข้าได้ที่ 1 ของอำเภอ ซึ่งผมควรจะมีอนาคตที่ดีใช่มั้ย? ผมชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เราอยากเป็นวิศวกร แต่พอเราได้เรียนไปสักพักเรารู้สึกว่าไม่ไหว ต้องตะเกียกตะกายขึ้นไปเรียนต้องคลานไป พอเป็นวัยรุ่นเราก็ไม่อยากทำแบบนั้นให้คนอื่นเห็น ก็กดดันตัวเอง สุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะไม่ไปเรียนหนังสือ ทั้งที่สอบได้ที่ 1 และมีคนให้ทุน

 

ก็เป็นโอกาสที่เสียไปเลย ปัจจุบันถ้าผมจะเรียกกลับคืนมาได้มั้ย ก็ไม่ได้แล้ว เกิดคำถามในใจว่า จริง ๆ เราก็ทำประโยชน์ให้สังคมได้นะ ถ้าวันนั้นเราได้เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร เราอาจจะทำอะไรให้กับสังคมนี้ในบทบาทนั้นที่อาจจะทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้นก็ได้ แต่เราเสียโอกาสนั้นไปเพียงเพราะว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เรา รู้สึกว่าติดอยู่ในใจตั้งแต่เด็ก

 

คนพิการคนอื่นก็เสียโอกาสตรงนี้เยอะ บางคนที่เรียนเก่งหรือคนที่มีความฝัน อยากทำอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือนคนทั่วไปแต่ทำไม่ได้เพราะมีอุปสรรค อุปสรรคที่ผมพูดไม่ได้หมายถึงป่วย ไม่สบาย แต่เป็นอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ขึ้นไปเรียนไม่ได้ เดินทางไม่ได้ เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราเสียโอกาสหลาย ๆ อย่าง ทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทำสิ่งที่อยากทำได้อย่างเต็มที่ มีโอกาสหลาย ๆ อย่างที่เราเสียไป เช่น อยากจะทำธุรกิจแต่เราทำไม่ได้เพราะต้องเดินทาง และเสียเวลาเราอีก ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มอีก

 

 

การมีขนส่งสาธารณะที่ดีจะเปลี่ยนชีวิตคนพิการได้ขนาดไหน

 

จะเปลี่ยนอย่างแน่นอน เพราะว่าโอกาสอยู่ข้างนอกไม่ได้อยู่ในบ้านเรา ถ้าเราออกไปข้างนอกไม่ได้เราก็จะไม่ได้เจอโอกาส ใครเขาจะเอาโอกาสมาให้เราที่บ้านล่ะ ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ต้องออกมาพบปะพบเจอผู้คนสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ไม่ได้มาหาเราผ่านเทคโนโลยี ก็ยังอยู่ข้างนอกอยู่ดี แน่นอนว่าจะเติมเต็มโอกาสในการทำสิ่งที่อยากทำ โอกาสที่จะมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกาย ได้มีความสุขกับชีวิต ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ได้ทำอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ทำประโยชน์ให้กับสังคม แม้กระทั่งออกไปจับจ่ายใช้สอยเราก็จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจกลับคืนให้กับสังคมได้ แต่ถ้าออกไปไหนไม่ได้ก็จะถูกจำกัดไม่ให้ทำกิจกรรมเหล่านี้ อย่างน้อยการออกจากบ้านเราก็เสียเงินแล้ว เราได้อุดหนุนคนขายชากาแฟ ถ้าไม่ได้ออกไปก็ไม่ได้ใช้จ่ายอะไร

 

ทำไมถึงคิดว่ารัฐควรทำให้เข้าถึงได้

 

สุดท้ายแล้ว ก็เป็นหลักประกันของทุกคน สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับคนพิการอย่างเดียว แต่คนที่ต้องการจริง ๆ ก็คือคนพิการ และก็ยังเป็นประโยชน์กับคนในภาพรวม วันหนึ่งทุกคนก็จะอายุมากขึ้น บางคนอาจจะตั้งท้องก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณเดินขึ้นบันไดแล้วสะดุดล้มขึ้นมา ก็สร้างความเสียหายให้กับชีวิตคุณได้

 

ผมเคยตั้งคำถามว่า คนที่เคยวิ่งขึ้นวิ่งลงรถไฟฟ้าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้คุณยังทำได้อยู่มั้ย คุณอาจจะทำไม่ได้เพราะข้อเข่าเสื่อม จะเห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปบางอย่างที่เราเคยทำได้อาจจะทำไม่ได้แล้วก็ได้ เราก็ต้องการวิธีการเข้าถึงแบบใหม่การใช้งานแบบใหม่ ถ้าสังคมเราออกแบบมาให้ดีจะตอบโจทย์ความต้องการการใช้งานที่หลากหลาย เป็นหลักประกันให้ทุกคนว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนคุณยังคงทำสิ่งที่เคยทำได้เหมือนเดิมหรือได้เกือบเท่าเดิม

 

ทำไมสิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐทำถึงไม่ตอบโจทย์คนพิการ

 

หนึ่งคือขาดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ สองคือขาดการทดลอง อย่างเอสการ์ด (S-Guard เสากั้นบนทางเท้า) แน่นอนว่าเขาหวังดีที่อยากให้คนเดินเท้าปลอดภัยจากรถมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่มีการทดลองใช้เพื่อดูว่าส่งผลกระทบอะไรบ้างก่อนที่จะเอามาติดตั้ง นอกจากจะบล็อกรถมอเตอร์ไซค์ รถเข็นก็พลอยโดนบล็อกไปด้วย

 

ผมเคยถามคนทั่วไปว่า ตอนเขาสร้างรถไฟฟ้าเคยไปดูมั้ยว่าบันไดใช้ได้หรือเปล่า เขาตอบว่าไม่เคย เขาไม่เคยต้องกังวลว่าบันไดใช้ได้มั้ย บันไดจะได้มาตรฐานมั้ย ก้าวขึ้นลงแล้วสะดวกมั้ย แต่คนพิการยังระแวงอยู่ว่าทางลาดได้มาตรฐานหรือเปล่า แคบไปมั้ย เอาไปไว้ข้างหลังแล้วหายากหรือเปล่า เอาไปซ่อนไว้ตรงหรือไหนหรือเปล่า การติดตั้งราวจับติดยังไงขวางทางที่จะใช้งานมั้ย เรายังต้องคอยดูคอยตามเรื่องพื้นฐานแบบนี้อยู่ มีความจำเป็นที่ผู้ใช้แบบพวกเราควรได้เข้าไปมีส่วนร่วม อย่างน้อยก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าที่ผ่านมาเจอปัญหาอะไร ไม่ใช่ว่าเอาเข้าไปตอนท้าย ๆ แล้วก็ทำอะไรได้ไม่มาก ทำให้เป็นปัญหาที่ผ่านมาว่าทำแล้วใช้ไม่ได้

 

คิดว่าเมืองในฝันจะเป็นแบบไหน

 

ต้องเป็นเมืองที่ทุกคนช่วยกันออกแบบ ช่วงหลัง ๆ ผมได้มีโอกาสไปร่วมกับโปรเจ็คเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองรอบสถานีขนส่ง TOD (การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน Transit-Oriented Development:TOD) ค่อนข้างเยอะ เช่น รถไฟความเร็วสูงที่จะผ่านจังหวัดต่า งๆ เขาจะวางแผนว่าตรงที่มีสถานีรถไฟเขาจะปรับปรุงยังไง ออกแบบเมืองใหม่ให้รองรับการเดินทางแบบนี้ได้ยังไง ซึ่งจะมีเรื่องของ Universal Design เข้าไปด้วย เราซึ่งเป็นคนพิการก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นว่าต้องเป็นแบบไหน ทำยังไง คำนึงถึงเรื่องอะไร

 

ผมดีใจที่ตอนนี้มีโปรเจ็คพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้นมาก เช่น ถนนรัชดาภิเษก รัตนโกสินทร์ ศรีราชาที่พัทยา บ้านฉาง ที่ขอนแก่น เขาก็เริ่มมีการพัฒนาแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งคนพิการจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนจากการมีพื้นที่เมืองใหม่ ๆ ที่คำนึงถึงการเข้าถึงของทุกคน อะไรที่ออกแบบใหม่ทำใหม่น่าจะดีกว่าเมืองในปัจจุบันของเรา ขออย่างเดียวคือเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเท่านั้นเอง

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/12/674

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *