3 สาเหตุผลทำให้เกิดทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส

สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “3 สาเหตุผลทำให้เกิดทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส”

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ” สำรวจระหว่างวันที่ 25 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,213 คน

การให้เงินสงเคราะห์กับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนจน กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง กลุ่มคนพิการ-ผู้สูงอายุ และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในชุดต่างๆเพื่อเป็นสวัสดิการและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น แต่จากการพบความผิดปกติในการจ่ายเงินคนไร้ที่พึ่งโดยนักศึกษาฝึกงานและนำมาร้องเรียนจนกลายเป็นข่าวโด่งดัง ซึ่งได้นำไปสู่การตรวจสอบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งและพบการทุจริตอย่างกว้างขวาง รวมถึงการพบการทุจริตเงินสงเคราะห์ในโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการโยกย้ายหรือไล่ออกข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าว

 

ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมได้ออกมาแสดงความชื่นชมยกย่องนักศึกษาที่เป็นผู้พบความผิดปกติจนกลายเป็นที่มาของการพบการทุจริตเงินสงเคราะห์ต่างๆ จนเป็นวงกว้าง และยกให้เป็นแบบอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมในการตรวจสอบการทุจริตและปกป้องสิทธิของตน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการทุจริตเงินสงเคราะห์และตำหนิผู้ที่กระทำการทุจริตอย่างรุนแรง รวมถึงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและวิธีการบริหารจัดการการให้เงินสงเคราะห์สำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตให้มากขึ้น จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.62 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.38 เป็นเพศชาย สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจและความรับรู้เกี่ยวกับข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสในกลุ่มต่างๆ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.65 ให้ความสนใจติดตามข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ เช่น การทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง การทุจริตเงินผู้มีรายได้น้อย การทุจริตทุนการศึกษา เป็นต้น บ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.07 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามโดยตลอด ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.28 ยอมรับว่าไม่ได้ให้ความสนใจติดตามเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.21 ทราบว่าจุดเริ่มต้นของข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆเกิดจากการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งโดยนักศึกษาฝึกงาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.79 ไม่ทราบ

ในด้านความคิดเห็นต่อการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาฝึกงานนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.09 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะมีส่วนช่วยเป็นแบบอย่างให้กับเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.06 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะมีส่วนทำให้สังคมตื่นตัวหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตต่างๆของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้นได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.42 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะมีส่วนกดดันให้ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาการทุจริตในเรื่องต่างๆอย่างจริงจังมากขึ้นโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์แอบแฝงใดใด

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.03 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะไม่ส่งผลกระทบให้หน่วยงานภาครัฐรับนักศึกษาฝึกงานน้อยลง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.54 กังวลว่านักศึกษาที่ออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งจนเป็นที่มาของข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐในโครงการอื่นๆ จะไม่ได้รับความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.51 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะไม่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตในเรื่องต่างๆ เกิดความเกรงกลัว/ละอายใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.6 เชื่อว่ายังมีการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐในกรณีอื่นๆ อีก เช่น เงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น

ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.58 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ให้หนักกว่าบทลงโทษจากการทุจริตประเภทอื่นๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.42 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษให้เท่าเทียมกัน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้างนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.61 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากความโลภมากที่สุด รองลงมาเกิดจากการขาดจิตสำนึก/คุณธรรมจริยธรรมคิดเป็นร้อยละ 28.44 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.34 ระบุว่าเกิดจากการใช้เงินเกินตัว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.61 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากรายได้/ค่าตอบแทนน้อยเกินไป

ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ กระบวนการควบคุมการจ่ายเงินมีความหละหลวมคิดเป็นร้อยละ 84.17 ผู้บริหารระดับสูงขาดการดูแลเอาใจใส่คิดเป็นร้อยละ 82.44 และการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับเงินมีความบกพร่องคิดเป็นร้อยละ 80.13 (อ่านข่าวต่อ : https://goo.gl/kK6XoR)

 

ขอบคุณ… http://www.thaipr.net/education/849986

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *