3 ธันวาคม วันคนพิการสากล และสิทธิที่ยังเข้าไม่ถึงของคนพิการไทย โดย…นลัทพร ไกรฤกษ์

3 ธันวาคมวันคนพิการสากล และสิทธิที่ยังเข้าไม่ถึงของคนพิการไทย

 

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันคนพิการสากล” (International day of persons with disability) ซึ่งนอกจากจะประกาศเพื่อสร้างความเข้าใจต่อคนพิการและสนับสนุนให้คนพิการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแล้ว วันนี้ยังเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตื่นตัวของสังคมที่มีต่อคนพิการ นอกจากนี้ยังเป็นวันแห่งการะลึกถึงความเท่าเทียมทางโอกาสผ่านการมีกฎหมายคนพิการอีกด้วย

 

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พลวัตการต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการทั่วโลกและก่อให้เกิดแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของงานด้านคนพิการ ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1970 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนพิการ จึงเกิดการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวาง คนพิการมิได้สยบยอมต่อการกดขี่และเลือกปฏิบัตินั้น ได้ออกมารวมตัวเรียกร้อง กดดัน ปิดถนน ยึดสถานที่รัฐ เพื่อให้เกิดกฎหมายยุติการเลือกปฏิบัติ

 

อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ได้มา ณ ขณะนั้นกลับเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพตามหลักคิดทางการแพทย์มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิทธิ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของคนพิการ คนพิการจึงชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมาย 504 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สร้างความเท่าเทียมให้คนพิการอเมริกัน และเป็นต้นแบบของการพัฒนาเป็นกฎหมายคนพิการอเมริกัน (ADA – American with Disabilities Acts)

 

ในปัจจุบันหลักการสำคัญที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายต่อสู้ของคนพิการอเมริกันก็คือแนวคิด ‘การดำรงชีวิตอิสระ’ หรือ ‘Independent living’ ที่มีเอ็ด โรเบิร์ต นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ผู้เป็นนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เมืองเบิร์กเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ เป็นคนริเริ่ม เขามีภาวะโปลิโอและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของคนพิการหลังจากที่เขาถูกปฏิเสธการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพราะความพิการมีมากเกินไป เช่น เขาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและในห้องพักของมหาวิทยาลัยของเขาไม่สามารถจัดวางในห้องพักได้ไม่สามารถรองรับได้

 

เหตุการณ์นี้ทำให้นักศึกษาจำนวนมากเรียกร้องให้ย้ายคนพิการออกจากศูนย์พยาบาล และจัดตั้งองค์กรให้บริการ เช่น การซ่อมรถเข็น ผู้ช่วยคนพิการ การเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ (CIL : Center for independent living) ที่จะช่วยให้คนพิการมีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ต้องถูกครอบงำภายใต้อำนาจที่เหนือกว่าอย่างครอบครัว เพราะเชื่อว่าพลังแห่งการตัดสินใจจะทำให้คนพิการสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้ และสร้างให้เมืองเบิร์กเล่ย์กลายเป็นเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้หนุ่มสาวพิการรุ่นใหม่เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันด้วย 13 ปีต่อมาแนวทางการดำรงชีวิตแบบอิสระของเขาก็ได้ขับเคลื่อนไปทั่วโลกทั้งในแคนาดา อังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทยด้วยและดำเนินตามแบบแผนดั้งเดิมของเอ็ดที่มี่จุดหมายให้คนพิการดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์

 

ในระดับสากลประเด็นเรื่องความพิการยังถูกได้รับการระบุรับรองอยู่ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่างว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities -CRPD) ที่เกิดขึ้นในปี 2549 และไทยลงสัตยาบันแล้วเมื่อปี 2551

 

ในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเรื่องการพิทักษ์สิทธิคนพิการที่สำคัญคือ มี พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งออกเมื่อปี 2534 และซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี 2550 ทำให้ไทยมีภาระผูกพันธ์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาค แต่อย่างไรก็ดี แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นกฏหมายคนพิการที่ก้าวหน้าและครอบคลุมในเรื่องสิทธิคนพิการ

 

แต่ก็ยังมีข้อกังขาถึงเรื่องการบังคับใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดกรณีการละเมิดสิทธิคนพิการอย่างต่อเนื่องอันเกิดจากอุปสรรค 4 ด้าน ได้แก่ 1.อุปสรรคทางกายภาพ 2.อุปสรรคทางข้อมูลข่าวสาร 3.อุปสรรคทางกฎหมายและการบังคับใช้ และ 4.อุปสรรคทางความเชื่อและวัฒนธรรม ดังที่ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเคยให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์โลกวันนี้ไว้ว่า คนพิการถูกเลือกปฏิบัติในหลายด้าน เช่น แม้จะมีระบุเรื่องการจ้างงานคนพิการตามอัตราส่วน 100:1 แต่คนพิการหลายคนก็ยังถูกเลือกปฏิบัติด้วยการให้ค่างจ้างที่น้อยกว่า

 

นอกจากนี้ปัญหาของการเข้าถึงระบบขนส่งสาธาณะก็สร้างต้นทุนที่มากขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการมีอาชีพของคนพิการด้วยเช่นกัน ทำให้คนพิการหลายคนเข้าไม่ถึงการมีอาชีพดังที่ปรากฏอยู่ในรายงานสถานการณ์คนพิการปี 2562 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ระบุว่า มีคนพิการที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือพิการมากจนประกอบอาชีพไม่ได้สูงถึงกว่า 200,000 คน

 

ประเด็นเรื่องการศึกษาของคนพิการก็เป็นสิ่งที่แวดวงคนพิการให้ความสนใจ ที่น่าเศร้าใจคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ตัดถ้อยคำที่เกี่ยวเนื่องกับการสนับสนุนเพื่อให้เด็กพิการเข้าถึงการศึกษาออกไปจากที่เดิมทีคนพิการก็เผชิญทั้งอุปสรรคทางด้านกายภาพและทัศนคติที่กีดกันการเข้าถึงการศึกษาอยู่แล้ว จึงสร้างความกังวลว่าหลังจากนี้การศึกษาของเด็กพิการจะพัฒนาไปในทางไหน จนในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเรียกร้องเรื่องการศึกษาของเด็กพิการอยู่บ่อยครั้งในม็อบราษฎร

 

นอกจากการเข้าไม่ถึงการศึกษาและอาชีพแล้ว การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมก็เป็นประเด็นที่สำคัญ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการปรับเบี้ยสวัสดิการความพิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท อย่างไรก็ดีแม้เดิมเบี้ยคนพิการเป็นสวัสดิการที่เคยถ้วนหน้า การปรับครั้งล่าสุดกลับกำหนดให้มีเพียงคนพิการ 2 กลุ่มเท่านั้นที่ได้รับ 1,000 บาท คือกลุ่มที่ถือทั้งบัตรคนพิการและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มคนที่ถือบัตรคนพิการและอายุต่ำกว่า 18 ปี การเพิ่มเบี้ยเฉพาะบางกลุ่มเช่นนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์อย่างหนาหูถึงระบบสวัสดิการที่ถอยหลังกลับสู่ระบบสงเคราะห์ซึ่งจะเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการลงอีก

 

นอกจากปัญหาอุปสรรคโดยตรงด้านการเข้าถึงแล้ว ยังพบว่าการเข้าไม่ถึงทั้งด้านการศึกษา สังคมและเศรษฐกิจนั้นส่งผลให้คนพิการมีแนวโน้มที่จะถูกล่วงละเมิดสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

 

จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของรายงานสถานการณ์ผู้หญิงพิการในประเทศไทยที่เขียนโดย เสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า หญิงพิการมีแนวโน้มที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงที่สุด จากทั้งปัจจัยของสภาพสังคมที่มองว่าชายเป็นใหญ่และกดให้หญิงพิการกลายเป็นคนที่ไม่มีทางสู้ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมแบบไกล่เกลี่ยที่ทำให้คดีจบด้วยการยอมความ เป็นต้น

 

ปัญหาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุปสรรคที่ทำให้คนพิการไม่สามารถมีชีวิตแบบทัดเทียมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ ในฐานะรัฐบาลที่รับเอาหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการมาบังคับ จึงควรเคารพ ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนพิการตามกลไกดังกล่าวให้มากขึ้น บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสำคัญ มีเครื่องมือที่เอื้อต่อกลไกการส่งเสริมสิทธิคนพิการและมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.posttoday.com/politic/columnist/639427

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *