“ครูหยุย” แนะ 3 แนวทางสกัดความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา

 

ประชุมวุฒิสภา “วัลลภ” แนะ 3 แนวทางสกัดความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้สามีลาไปดูแลบุตรภรรยาหลังคลอด

 

วานนี้ (24 พ.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว ซึ่งคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่พบอยู่เสมอ ทั้งในครอบครัวและในสังคม และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นกับบุคคลที่อ่อนแอหรือด้อยโอกาส กรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะ 3 แนวทาง คือ 1. แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริง ควรมีการศึกษาเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงว่าเหตุใดจึงถูกกระทำ หรือถูกกระทำด้วยวิธีการใด 2. แนวทางการช่วยเหลือเยียวยา เมื่อพบเห็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงต่อเด็กจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และทำงานในเชิงรุก โดยใช้กระบวนการจากทีมสหวิชาชีพดำเนินการช่วยเหลือ รวมทั้งควรมีการจัดการเก็บข้อมูลกลางเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีสถานที่รองรับและให้การคุ้มครองผู้ถูกกระทำที่มากเพียงพอ

 

นายวัลลภกล่าวอีกว่า 3. แนวทางป้องกัน อาทิ การเตรียมความพร้อมของครอบครัวรุ่นใหม่ ส่งเสริมให้ส่วนราชการ หรือองค์กรรัฐวิสาหกิจมีเนอร์สเซอรี เพื่อให้แม่มีโอกาสใกล้ชิดบุตร ผลักดันให้ท้องถิ่นมีแผนและกิจกรรมส่งเสริมครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้สื่อมวลชนภาครัฐมีพื้นที่การนำเสนอสาระเกี่ยวกับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อาทิ การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งผลักดันให้มีพระราชบัญญัติเพื่อให้สามีสามารถลาเลี้ยงดูบุตรหลังภรรยาคลอดบุตร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2553 โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 ที่ให้มีสิทธิลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/politics/detail/9630000120987

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *