ชวนทำความรู้จัก ความพิการประเภทที่ 5 ทางด้านสติปัญญา

 

ผู้พิการทางสติปัญญา หมายถึง ภาวะที่เด็กมีความบกพร่องด้านสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตประจำวัน ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า ‘บกพร่องทางสติปัญญา’ แทน ‘ภาวะปัญญาอ่อน’

 

ภาวะบกพร่องทางสติปัญญานั้นทำให้พัฒนาการในหลาย ๆ ด้านล่าช้ากว่าคนทั่วไป ซึ่งความล่าช้านี่ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงทางการบกพร่อง ซึ่งจะสามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

1.ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรงมาก จะพบความผิดปกติได้ในช่วงขวบปีแรก มีพัฒนาการล่าช้า ต้องการความช่วยเหลือและดูแลตลอดเวลา

 

2.ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรง มีพัฒนาการล่าช้าชัดเจนตั้งแต่เด็ก มีปัญหาด้านการสื่อสาร การดูแลตัวเอง หากได้รับการฝึกฝน เด็กอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

 

3.ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับปานกลาง มักพบการในช่วง 2-3 ขวบ หรือก่อนวัยเรียน สามารถช่วยเหลือตัวเองแบบง่าย ๆ ได้ จึงอาจเข้าเรียนได้ถึงชั้นประถมตอนต้น หากได้รับการศึกษาในระบบพิเศษ

 

4.ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อย อาการมักปรากฏเมื่อเข้าวัยเรียนแล้ว ส่วนใหญ่จะศึกษาได้ถึงชั้นประถม6 หรือสูงกว่า สามารถทำงานและสมรสได้ อาจต้องการความช่วยเหลือในบางครั้งคราว

 

พฤติกรรมหรือความบกพร่องที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากความบกพร่องทางสติปัญญา

– บกพร่องด้านการเคลื่อนไหว มักมีพัฒนาการที่ช้า ต่ำกว่าวัย ไม่คล่องแคล่ว
– บกพร่องด้านการสื่อสาร พบได้กว่าร้อยละ 70 ของเด็กที่มีตวามบกพร่องทางสติปัญญา ปัญหาที่พบได้ เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด
– ความผิดปกติทางจิตเวช ส่วนมากจะเป็นปัญหาทางพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น ก้าวร้าว ซึ่งจะพบได้บ่อยขึ้นเมื่อมีภาวะความบกพร่องทางสติปัญญาที่มากขึ้น
– ภาวะชัก พบมากในความบกพร่องทางสติปัญญาที่รุนแรงถึงรุนแรงมาก รักษาได้โดยการรับประทานยากันชัก
– ภาวะประสาทสัมผัสบกพร่อง เช่น การมองเห็น การได้ยิน หูตึง ตาเข

 

การให้ความช่วยเหลือเด็กบกพร่องทางสติปัญญา

 

แม้ว่าภาวะบกพร่องทางสติปัญญานั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สิ่งที่เราทำได้คือการคงสภาพและฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ โดยที่ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม

 

ผู้ปกครองควรให้การพัฒนาและฟื้นฟูเด็กป่วยให้ได้เร็วที่สุด โดยมีหัวใจหลัก คือ ‘การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก’ เช่น การฝึกทักษะด้านการเขียน อ่านและฝึกควบคู่ไปกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของเด็ก เช่น กีฬา ดนตรี สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองต้องยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น พร้อมทั้งให้ ความรัก ความเข้าใจและช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม

 

การฝึกทักษะด้านการสื่อสาร

 

– ควรฝึกพูดให้เร็วที่สุด เพื่อความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่วัยเรียน
– ให้การพัฒนาด้านภาษา ควบคู่ไปกับด้านอื่น ๆ เช่น ด้านร่างกาย
– กระตุ้นการสื่อสารที่มาจากความต้องการของเด็ก เช่น สอนการใช้คำศัพท์จำพวก ขอ เอาอีก
– สอนคำศัพท์จากวัตถุจริงในชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้
– สอนให้เด็กใช้คำพูดได้หลายสถานการณ์ และเลือกใช้คำพูดได้อย่างเหมาะสม
– สอนการพูดโต้ตอบให้ได้ก่อนที่จะแก้ไขเสียงที่ไม่ชัด
– สอนคำศัพท์จากสิ่งที่สามารถจับต้องได้จริง และสอนให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน เช่น การมองเห็น การสัมผัส
– เลือกสอนคำศัพท์ที่จำเป็นและต้องใช้ในชีวิตประจำวันก่อน
– สอนการคิดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบง่าย ๆ
– ยอมรับในคำพูดของเด็กที่คล้ายคลึงกับสิ่งถูกต้อง แล้วปรับเปลี่ยนการออกเสียงด้วยการพูดให้ฟัง
– ใช้ภาษากายร่วมกับการใช้ภาษาทางคำพูด เช่น การพยักหน้า-ส่ายหน้า พร้อม ๆ กับการพูดว่าใช่หรือไม่ใช่
– ใช้อุปกรณ์ช่วยในการทดแทนการสื่อสารบางคำ เช่น รูปภาพ
– หากมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ให้กระตุ้นด้วยการนวด และฝึกการบริหารกล้ามเนื้อของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด

 

การส่งเสริมด้านการเคลื่อนไหวพื้นฐาน

 

เป็นทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น การช่วยเหลือตนเอง ซึ่งอาจจะมาจากข้อจำกัดทางความบกพร่องของสติปัญญา ผู้ฝึกจึงควรให้การกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น เด็กที่มีปัญหาด้านสายตา ควรเน้นเรื่องการใช้เสียงและสัมผัส เด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยินควรเน้นด้วยแสงสี โดยการพัฒนานั้นต้องเป็นไปอย่างเป็นลำดับขั้นและเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กในช่วงเวลานั้น อาจจะเริ่มจากการช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง แล้วค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือลง และในระหว่างการฝึก ผู้ฝึกควรบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร และต้องการให้มีการตอบสนองอย่างไร

 

สิ่งที่ผู้พิการด้านสติปัญญาต้องการคือ ความรัก ความเข้าใจ อย่าไปดูถูกหรือเปรียบเทียบใด ๆ กับเด็กคนอื่น ๆ การต้องเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยทางสติปัญญานั้นย่อมมีความท้อ มีความเครียด เชื่อว่าทั้งคนพิการเองทั้งผู้ดูแลต่างก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ จะวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ก็ต้องเต็มที่กับมันนะคะ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

 

 

ขอขอบคุณ   คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *