ธ.ก.ส.อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 2 แสน ล.กระตุ้นฐานราก

 

ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 55 ธ.ก.ส. ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร ก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทดแทนคุณแผ่นดิน อัดฉีดเม็ดเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 220,000 ล้านบาท กระตุ้นการลงทุนภาคชนบท

 

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ 54 ปี และการก้าวสู่ปีที่ 55 ของ ธ.ก.ส. ยังมุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรและชนบทของไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” รวมพลังพนักงานทั่วประเทศกว่า 25,000 คน ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรในการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งภัยธรรมชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายในการสร้าง “Better Life Better Community Better Pride”

 

การดำเนินงาน ธ.ก.ส. ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ที่ทำงานในเมือง นิสิตนักศึกษาจบใหม่ ทายาทเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการและการตลาดสมัยใหม่ หันกลับมาช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยจับมือหรือทดแทนเกษตรกรในรุ่นพ่อแม่ที่มีอายุมาก เพื่อให้ภาคเกษตรเติบโตและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของทุกๆคนและประเทศชาติ

 

ธ.ก.ส. ได้จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ผ่านโครงการประกวด “New Gen Hug บ้านเกิด” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาพัฒนา กลับมากอดครอบครัว กอดประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดย ธ.ก.ส. พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการ สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด ,สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ,สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ วงเงิน 170,000 ล้านบาท โดยปลอดดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือนแรก และในช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR 6.50% ต่อปี) และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี หรือ ล้านละ 100 บาท

 

นอกจากนี้จะร่วมประสานเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สถาบันการศึกษา สำนักงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด เป็นต้น ในการช่วยเติมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการทางการผลิต การตลาด รวมถึงงบประมาณที่จะช่วยรองรับพื้นฐานการผลิต สร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ลงทุนต่อไป 

 

 

นายสุรชัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งอุทกภัยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. มอบนโยบายให้สาขา จัดทีมเข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยจัดถุงยังชีพ การมอบเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต บ้านเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานส่วนกลางและรัฐบาลในการกำหนดแนวทางการช่วยเหลืออื่น ๆ ต่อไป โดย ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ไปแล้ว ดังนี้

 

1. มาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน เพื่อลดภาระและผ่อนคลายความกังวลในช่วงวิกฤติ ให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงโครงสร้างการชำระหนี้ (Loan Review) ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ และการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์ ณ 22 ตุลาคม 2563 จำนวนกว่า 3.25 ล้านราย วงเงินพักชำระหนี้กว่า 1.45 ล้านล้านบาท

 

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นกลไกการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME โดยใช้ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารออมสิน อัตราดอกเบี้ย 2 % ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบและวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่ได้รับประโยชน์ ณ 22 ตุลาคม 2563 จำนวน 5,974 ราย วงเงินกู้กว่า 5,085.58 ล้านบาท

 

โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินภายในครัวเรือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.1% ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ และปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก มีเกษตรกรและครอบครัวให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านระบบ LINE Official BAAC Family ณ 31 ตุลาคม 2563 จำนวน 2,520,680 ราย โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 8.5 แสนราย วงเงินกว่า 8,484.83 ล้านบาท

 

3. มาตรการช่วยเหลือของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) ซึ่งในการดำเนินงาน นอกจากจ่ายเงินผ่านระบบ ธ.ก.ส. ไปยังผู้ใช้สิทธิ์ที่ลงทะเบียนในโครงการกว่า 2.7 ล้านราย เป็นเงินกว่า 43,015 ล้านบาทแล้ว ธ.ก.ส. ยังร่วมจัดตั้งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ ทั่วประเทศกว่า 6,000 ราย ทำหน้าที่สอบทานการประกอบอาชีพของผู้ขอทบทวนสิทธิ์เพิ่มเติมอีกจำนวน 212,987 ราย โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 150,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยได้นำมาตรวจสอบสถานะผู้ที่เสียชีวิตและความซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลือ อื่น ๆ ของรัฐ และทยอยโอนเงินผ่าน ธ.ก.ส. ทุกสาขากว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ

 

มีผู้ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจำนวนกว่า 7.56 ล้านราย เป็นเงิน 113,304 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ เช่น การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ เงินเดือน อสม. เงินประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 พืชหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

 

นายสุรชัย ย้ำด้วยว่า ในช่วงวิกฤติถือเป็นโอกาสของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรลูกค้าในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งตรงไปบนมือถือเกษตรกร ช่วยสร้างความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์กู้เงินฉุกเฉิน การแจ้งข้อมูลเงินเข้า – เงินออกผ่าน BAAC Connect โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

การแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จาก ธ.ก.ส. ในระบบ LINE Official : BAAC Family การเช็คสิทธิ์โครงการรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com การสื่อสารผ่าน Facebook BAAC Thailand และในขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้พัฒนาระบบการอนุมัติสินเชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างบริการที่ทันสมัย รวดเร็ว แม่นยำ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคใหม่

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/news1/detail/9630000115146

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *