รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ติดตามการจัดการศึกษา ย้ำ การจัดการศึกษายุคดิจิทัล ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

logomain

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดพังงา ติดตามการจัดการศึกษา ย้ำ การจัดการศึกษายุคดิจิทัล ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

          

วานนี้ (1 พ.ย. 63) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการ มอบนโยบายการศึกษาและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  การติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาของ กศน.จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครั้งนี้ ยังเป็นการรับฟังปัญหาและความต้องการด้านการปฏิบัติงานจากครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด กศน. ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ โดยถือว่าผลการปฏิบัติงานภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ ส่วนประเด็นสำคัญ คือ การติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาบนพื้นที่เกาะของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน รวมถึงชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ต้องผลักดันให้สามารถอ่านออกเขียนได้ และประกอบอาชีพได้ในอนาคต พร้อมนี้ได้ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการศึกษาและการฝึกอาชีพของ กศน. ด้านต่าง ๆ ได้แก่ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและการจัดการศึกษาห้องเรียนออนไลน์ การจัดการศึกษาบุคคลไร้สัญชาติ การสร้างงาน สร้างอาชีพที่เพิ่มขึ้น จากศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนครอบครัว TO BE สีขาว และโครงการ 1 ตำบล 1 อาชีพ พรีเมี่ยม รวมถึงการจัดหาหนังสือเพิ่มเติม หลากหลาย และตรงความต้องการเข้าสู่ห้องสมุด และผลักดันอัตรากำลัง ครู กศน. ที่สอนคนพิการให้มีความมั่นคงมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนงาน กศน. ให้มุ่งหน้าสู่ กศน.ยุคดิจิทัล หรือนโยบาย “กศน. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล” โดยมีขอบข่ายการดำเนินงานครอบคลุม 6 G คือ Good Teacher จัดการเรียนรู้สู่ยุคดิจิทัลด้วยครู กศน. , Good Place จัดตั้ง กศน.ตำบลต้นแบบ พัฒนาบริการการศึกษาแบบออนไลน์ , Good Partnership มีเครือข่ายทำงานร่วมกัน สู่การจัดการเรียนรู้ในชุมชนอย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง , Good Innovation การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมอาชีพให้สอดคล้องกับชุมชน และ Good Learning Center ให้ กศน.ตำบล เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชน เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียม สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเดินหน้าภายใต้กรอบทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ ด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ซึ่งจะมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาครู หลักสูตร และการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการเข้าถึงช่องทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ผ่านระบบเปิดสำหรับมหาชน หรือ MOOCs เชื่อว่าศักยภาพของหน่วยงานจะสามารถพัฒนา กศน. ไปสู่การศึกษาในยุคดิจิทัลรองรับไทยแลนด์ 4.0 อย่างมีคุณภาพ ภายใต้นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201101214055176

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *