“ยิ้มสู้คาเฟ่” ไม่ยอมแพ้ และพร้อมเป็นผู้ให้ : ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

 

“การทำงานที่ท้าทาย ผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในสังคมไทยเพราะคนไทยเราเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถไร้ขอบเขต ไม่ใช่แต่เรื่องของคนพิการ แต่คนพิการยังมีคนคอยสั่งสอนว่า จงเชื่อนะว่าความสามารถของเรา ไร้ขอบเขต ผมว่าสังคมไทยก็ต้องเชื่อเช่นเดียวกัน เพื่อเราจะได้ยกระดับประเทศเรา ให้มีศักยภาพสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ” 

 

ผมประสบอุบัติเหตุสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำให้กลายเป็นผู้พิการทางสายตา แต่ด้วยความมานะและไม่ท้อแท้ต่อโชคชะตา ทำให้ขวนขวายจนประสบความสำเร็จในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่การแก้กฎหมายให้ผู้พิการเพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนทั่วไป

 

บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ดูแลธุรกิจในแบรนด์ “ยิ้มสู้”

 

 

เกิดอุบัติเหตุ ตาบอดตั้งแต่อายุ 15 ปี   ผมเกิดมาในชนบท จังหวัดนครราชสีมา เกิดขึ้นมาก็เหมือนเด็กทั่วไป แต่พออายุ 15 ปี ไปเล่นระเบิดจนทำให้ตาบอด ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม วัตถุระเบิดจะเยอะหน่อย

 

พอตาบอดก็เลยได้เข้าไปเรียนโรงเรียนคนตาบอด โชคดีได้พบกับ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และซิสเตอร์โรสมัวร์ แม่อธิการโรงเรียน ที่บอกว่าโชคดีคือท่านเริ่มเปลี่ยนความคิดของผมก่อนเลยครับ ท่านบอกว่าโดยทั่วไปคนตาบอดมักคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะถ้าเราเชื่อว่าเราทำอะไรไม่ได้ มันจะทำอะไรไม่ได้จริง ๆ ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนความเชื่อให้ได้ก่อนว่าคนตาบอดทำได้ทุกอย่าง และต้องหางานท้าทายทำ เพราะงานท้าทายจะสามารถดึงความสามารถของคนพิการออกมาได้ เราทำงานท้าทายมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ความสามารถของเราจะขยับสูงไปเรื่อย ๆ อันนี้คือเรื่องสำคัญ

 

มุ่งทำงานท้าทายจนประสบความสำเร็จ

 

งานท้าทายของผมก็คือ เช่น ตอนเรียนเราตั้งเป้าว่าเราจะเรียนยังไงให้ได้ดี ให้ได้ที่ 1 เราก็ทุ่มเท โดยตอนนั้นผมมีความตั้งใจว่าเราต้องเรียนกฎหมายเหมือนคนตาบอดอเมริกัน เพราะคนตาบอดที่อเมริกานั้นเขาได้ดีจากการเรียนกฎหมาย เขาได้เป็นทนาย เป็นผู้พิพากษา เป็นอัยการ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าเมืองไทยจะห้ามไม่ให้คนพิการทำอะไรได้เลยสักอย่าง แต่เราก็ต้องเรียนให้เขาเห็นว่าคนตาบอดทำได้

 

ผมก็ตั้งใจเรียนหนังสือให้ดี ตอนนั้นผมจบ มศ.5 ติดบอร์ดที่ 24 ของประเทศไทย สมัยนั้นจะสอบทั้งประเทศพร้อมกัน และก็สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเมื่อเข้าไปเรียน เราก็สามารถเรียนได้ดี และได้ที่ 1 ของรุ่นมาโดยตลอด

 

เป็นอาจารย์เราจะทำยังไงให้สอนหนังสือให้ดีและก็มีความก้าวหน้าในอาชีพอย่างรวดเร็วซึ่งผมก็ทำได้อย่างสำเร็จค่อนข้างดี เมื่อปี พ.ศ. 2519 โชคดีคณบดี ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ เริ่มมีนโยบายที่จะสร้างอาจารย์ประจำที่คณะ แต่ดั้งเดิมอาจารย์จะมาสอนที่คณะนิติศาสตร์ จะเป็นผู้พิพากษาทั้งหมด อย่างอาจารย์ที่ผมเรียนก็เรียนจากผู้พิพากษาทั้งหมด ก็มีรุ่นผมที่เริ่มสร้างอาจารย์ประจำกัน ผมก็เลยได้สอบเป็นอาจารย์ ได้ทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่นเดียวกับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จบมาก็กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยต่อ

 

งานของคนพิการก็เหมือนกันทำยังไง เราจะต่อสู้ให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมให้เรามีความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่น หรือมีแต้มต่อในบางเรื่อง หลังจากที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยนั้น ผมได้ความคิดว่าเราต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสเท่าเทียมกับคนทั่วไป เหมือนในต่างประเทศ ก็ใช้เวลาต่อสู้เรื่องนี้มากเลยทีเดียว เพราะผมกลับมาปี พ.ศ. 2526 กว่าจะได้กฎหมายฉบับแรกก็ปี พศ. 2534 กว่าจะแก้ไขกฎหมายได้ ก็เมื่อผมได้มีโอกาสได้ไปเป็นสมาชิกสภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2550 ก็สามารถรวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เราเตรียมจะแก้ไข เสนอรัฐบาล รัฐบาลก็เสนอเข้าสภาให้ ก็ทำให้เรามีการแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิคนพิการ มีการออกกฎหมายสำหรับคนพิการเฉพาะ พ.ร.บ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ. การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งก็ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้

 

ตอนนี้งานท้าทายที่รองรับผมอยู่ก็คือว่า ทำอย่างไรที่จะฝึกอาชีพ และก็ทำให้คนพิการไปประกอบอาชีพ พึ่งพาตัวเองได้ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ให้ได้มากที่สุด ที่ถือว่าเป็นงานท้าทายเลย เพราะว่า อย่าลืมว่าคนพิการที่จดทะเบียนมา 2 ล้านคน อยู่ในวัยทำงานประมาณ 8 แสนคน แต่มีงานทำแค่ 2 แสนคน มีงานทำที่เป็นอาชีพอิสระแค่ 1 แสนกว่าคน ที่ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างนี่ประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในเครือข่ายคนพิการจะต้องทุ่มเทในการที่จะฝึกอาชีพอิสระ แล้วทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มวันทำงานสามารถมีงานทำให้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เพราะว่าเขารอคอยเราอยู่อีกตั้ง 6 แสนคน

 

อย่างที่มูลนิธิฯ เรา ก็มีบริษัทจ้างคนพิการมาทำงานให้ 40 – 50 คน แล้วก็ฝึกอาชีพ 100 กว่าอัตรา อันนี้ก็ทำให้สามารถทำงานในการพัฒนาส่งเสริมให้คนพิการได้มีงานทำ

 

 

ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ 

 

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการก็คือมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนพิการ อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้วเมื่อเราต่อสู้เรื่องกฎหมายให้คนพิการมีสิทธิ์ ที่เหลือก็คือหน่วยให้บริการครับ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องตั้งมูลนิธิเพื่อมาเป็นหน่วยให้บริการ

 

ที่มูลนิธิฯ เราก็ช่วยเหลือตั้งแต่เด็กเล็ก ที่นี่เรามีศูนย์เด็กเล็กเตรียมความพร้อมให้เด็กพิการตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในวัยอนุบาล ที่ครอบครัวมีความขัดสน ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิฯ กับศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง สังกัดสำนักบริหารงงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

 

เมื่อเราทุ่มเทเรื่องการศึกษาแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อคนพิการจบการศึกษา ก็มีปัญหาเรื่องหางานทำ เรื่องมีงาน มีรายได้ มูลนิธิฯ เราก็ทุ่มเททำเรื่องนี้ เรามีฝ่ายจัดหางานให้คนพิการ แล้วเราก็มีศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ถ้าในเมืองเราก็จะฝึกอาชีพอาหาร กาแฟ ที่ยิ้มสู้คาเฟ่ ถ้าในชนบทเราก็จะทำเกษตร เกษตรแปรรูป งานหัตกรรม และอื่น ๆ โดยเรามีศูนย์ฝึกอยู่ที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อให้คนพิการมีโอกาสที่จะประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อันนี้ก็เป็นงานที่มูลนิธิเราทุ่มเท

 

นอกจากนี้ก็มีบางงานที่แทรกเข้ามาเหมือนกัน อย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2550 ผมมีโอกาสได้ยกร่าง พ.ร.บ. กสทช. แล้วก็มีข้อกำหนดให้ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนได้เข้าถึงโทรคมนาคมถ้วนหน้า ทางมูลนิธิก็เลยร่วมกับ NECTEC (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) เสนอโครงการขอเงินสนับสนุนจาก กสทช. จัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย ( Thai Telecommunication Relay Service) เพื่อให้บริการสื่อสารสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งพบว่าศูนย์บริการแห่งนี้ ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) (กสทช.) ในการจัดบริการถ่ายทอดการสื่อสารให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ผ่าน 7 วิธีการ ได้แก่

 

1.การสื่อสารแบบข้อความสั้น (SMS)
2.การสื่อสารแบบรับส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Message
3.การสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat
4.การสื่อสารแบบสนทนาข้อความบนอินเทอร์เน็ต
5.การสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Captioned Phone
6.การสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video
7.การสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต

 

ตอนนี้ทางเราก็มีล่ามประมาณ 30 กว่าท่าน ที่คอยให้บริการผู้พิการทางการได้ยิน 24 ชั่วโมง

 

 

ยิ้มสู้คาเฟ่ บ่มเพาะอาชีพ

 

ความเป็นมาของยิ้มสู้คาเฟ่ เมื่อเราตั้งมูลนิธิฯ แล้ว อย่างที่บอกว่าเราอยากจะเน้นเรื่องอาชีพ เรามีประสบการณ์ว่าที่ต่างประเทศ ผู้พิการทางสายตาประกอบอาชีพอาหารเป็นกอบเป็นกำ ร่ำรวยกันมากมาย เราก็เลยมองว่า โอ้! ขนาดอเมริกาคนตาบอดยังทำได้ดีเลย เราทำไมเราไม่ลองทำที่เมืองไทย ด้วยเหตุนี้เราเลยเริ่มฝึกอาชีพ ด้วยการทำอาหารและกาแฟขาย โดยใช้แบรนด์ว่า “ยิ้มสู้คาเฟ่”

 

ที่เราใช้แบรนด์นี้ก็เนื่องจากว่า คำว่า “ยิ้มสู้” เป็นชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนิพนธ์เพื่อให้กำลังใจชาวตาบอดเราในการต่อสู้ชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ซึ่งในสมัยนั้นสังคมไทยและคนตาบอดเองก็ไม่เชื่อว่า ตัวเองจะทำอะไรได้ แต่พระองค์ท่านก็ทรงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้เพื่อให้กำลังใจพวกเรา

 

หัวใจสำคัญ คือ เราต้องฝึกแบบมืออาชีพ ภรรยาผมก็ได้ไปชิมกาแฟในที่ต่าง ๆ แล้วชอบโรงเรียนไหนก็จ้างครูที่โรงเรียนนั้นหรือเจ้าของโรงเรียนมาฝึกให้ พร้อมกับหากาแฟดี ๆ มาใช้ ช่วงแรกจะใช้กาแฟของทางผู้ฝึก ต่อมาภายหลังกรรมการทางมูลนิธิฯ ก็มีการส่งเสริมและช่วยเหลือชาวดอยที่ดอยอินทนนท์ เราก็เลยเข้าไปสนับสนุน ซื้อกาแฟออร์แกนิกมาจำหน่ายแล้วก็มาทำกาแฟ ที่ยิ้มสู้คาเฟ่จึงใช้กาแฟออร์แกนิก ซึ่งได้รับการการันตีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นกาแฟออร์แกนิกแท้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยกำไรจากกาแฟก็เอาไปช่วยผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือผู้พิการในมูลนิธิฯ ของเรา

 

ส่วนจุดแข็งสำคัญของยิ้มสู้คาเฟ่ คือการส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพ มีรายได้ อย่างผู้พิการทางสายตาที่มาเรียนทำอาหาร และกาแฟที่นี่ เขาก็ไปเปิดร้านอาหารเองได้ มาเรียน 10 คน ก็ไปเปิดร้านเรียบร้อยดีได้ถึง 3 คน หรือ 3 ครอบครัว เพราะเขามักจะทำกับครอบครัว 

 

ตอนนี้เราเริ่มพัฒนาฝึกคนหูหนวก คนหูหนวกก็แกไปเป็นบาริสต้าที่ Café Amazon, True Coffee และอีกหลายที่ แล้วก็มีบางคนที่ออกไปประกอบอาชีพอิสระของตัวเองเหมือนกันครับ

 

เชื่อมั่นในตนเองและรู้จักการให้ จะค้นพบความสุข 

 

ส่วนตัวผมมองว่าคนพิการไม่แตกต่างกับคนทั่วไป คือคนพิการบางคนก็เก่งเรื่องการสอนหนังสือ อย่างผมก็ถนัดเรื่องการสอนหนังสือ คนพิการบางคนเขาก็ถนัดงานศิลปะ เขาก็วาดภาพได้สวยงาม คนพิการแต่ละคนก็มีพรสวรรค์แตกต่างกันไป ก็เหมือนกับคนทั่วไป ที่มีพรสวรรค์แตกต่างกัน

 

ใครที่ท้อแท้หรือหมดกำลังใจผมจะแนะนำว่า เราจะต้องพยายามเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะก้าวพ้นความท้อแท้หรือหมดกำลังใจนั้น ที่ผมใช้อยู่เสมอนั้นคือว่า ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เราท้อแท้ เป็นสิ่งที่ท้าทายที่เราต้องก้าวพ้นให้ได้ วิธีที่ง่ายก็คือเราเชื่อในความสามารถของเรา แล้วก็รู้จักการให้ เพราะว่าการให้มันทำให้มนุษย์เรามีความสุข ผมแนะนำเลยถ้าเราท้อแท้เมื่อไหร่ไปบริจาคโลหิตเลยครับ ถ้าคุณบริจาคโลหิตได้ แล้วคุณจะภูมิใจว่าเราก็ยังให้เลือดเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่าเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ความท้อแท้มันจะหายไป เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราภูมิใจในเรื่องที่เราให้ความสุขมันจะมาแทนที่เลย

 

ส่วนตัวผมไม่เคยท้อแท้ เพราะอาจด้วยผมถูกสอนมาว่า ปัญอุปสรรคเราจะต้องพยายามต่อสู้ แล้วก็เอาชนะปัญหาอุปสรรคนั้นให้ได้ เพราะปัญหาอุปสรรคเป็นตัวที่จะอัพเกรดหรือพัฒนาตัวเราให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มีอุปสรรค ความสามารถของเราก็จะไม่ถูกยกระดับให้สูงขึ้น เรามีมากเท่าไหร่ และเราสามารถก้าวข้ามพ้นความสามารถหรือศักยภาพของมนุษย์เราก็จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

 

ความเชื่อเรื่องการทำงานที่ท้าทายผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสังคมไทยเพราะคนไทยเราเองก็ไม่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถไร้ขอบเขต ไม่ใช่แต่เรื่องของคนพิการนะครับ แต่คนพิการยังมีคนคอยสั่งสอนว่าความสามารถของเรายังมีไร้ขอบเขต ทำงานท้าทายพวกเราก็พยายามทำกันไป ผมว่าสังคมไทยก็ต้องเชื่อเช่นเดียวกัน เพื่อเราจะได้ยกระดับประเทศเราให้มีศักยภาพสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

 

Yimsoo cafe “ยิ้มสู้ คาเฟ่”
ตั้งอยู่ในมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซอยอรุณอมรินทร์ 39
เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ (ใกล้โรงพยาบาลศิริราช) กรุงเทพฯ
ร้านเปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
เบอร์ 02-055-1901 หรือ 02-055-1902

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000108286

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *