ชวนทำความรู้จัก ความพิการประเภทที่ 3 ทางการเคลื่อนไหวและทางร่างกาย

ความพิการประเภทที่ 3 ทางการเคลื่อนไหวและทางร่างกาย

 

คือ คนที่มีความบกพร่องในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น มือ เท้า แขน ขา ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว เช่น การทานอาหาร การใส่เสื้อผ้า การพลิกตัว คนพิการทางการเคลื่อนไหว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

 

  1. ความพิการทางการเคลื่อนไหว คือผู้ที่มีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน จากความสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว
  2. ความพิการทางร่างกาย คือ ผู้ที่มีความบกพร่องของศีรษะและใบหน้า ลำตัว ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพลักษณ์ภายนอก

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

 

– ควรเปลี่ยนท่าทุก 2 ชั่วโมง
– ในท่านอน ควรมีผ้าขนหนูให้กำเพื่อลดอาการเกร็ง และการยึดติดของนิ้วมือ ส่วนขาควรมีหมอนหนุนสะโพและขาด้านที่อ่อนแรง ปลายเท้าติดขอบเตียง ป้องกันขาแบะออกและปลายเท้าตก
– จัดให้นอนหรือนั่งบนอุปกรณ์กระจายแรงกดหรือลดแรงกระแทก เช่น เตียงลม เบาะ ฟองน้ำ
– หลีกเลี่ยงการนอนทับตะเข็บเสื้อ หรือปมต่าง ๆ
– การให้อาหารทางสายยาง ให้จัดท่านอนให้ศีรษะสูง แต่ภายหลังอาหารราว 30 นาที ควรลดระดับลงให้เหลือไม่เกิน 30 องศา เพื่อป้องกันแผลกดทับที่ก้นกบ
– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
– ทาวาสลีนหรือโลชั่น เพื่อเคลือบชั้นผิวหนังไม่ให้ระคายเคือง และป้องกันแผลกดทับบริเวณที่ไม่รู้สึก

 

การดูแลตอแขน ขา

 

– ทำความสะอาดตอแขนขาอย่างน้อยวันละครั้ง เช็ดให้แห้ง *ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด
– สังเกตรอยแผลหรือรอยช้ำที่เกิดขึ้นหลังจากถอดแขนขาเทียม หากมีควรงดใส่แขนขาเทียมชั่วคราว ทำแผล และพบแพทย์
– พันตอแขนขาด้วยผ้ายืด เมื่อไม่ได้ใส่แขนขาเทียม คลายออกทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อพันใหม่
– จัดท่าของตอขาไม่ให้ยึดติด
– หากขาเทียมอยู่ใต้เข่า ไม่ควรให้อยู่ในท่างอตลอด
– หากขาเทียมอยู่เหนือเข่า ควรให้นอนคว่ำ เพื่อให้สะโพกได้อยู่ในท่าเหยียดบ้าง
– ควรสวมถุงผ้าก่อนใส่แขนขาเทียม ให้กระชับ ไม่มีรอยย่น
– สามารถใส่ถุงผ้าเพิ่มให้กระชับขึ้นได้ กรณีที่เกิดรอยยุบบวม
– การสวมขาเทียมที่ไม่สามารถสวมตอขาเข้าไปในเบ้าได้ สามารถใช้ผ้ายืดหรือผ้าช่วยดึงตอขาได้
– รายที่นั่งรถเข็นควรมีเบาะรองก้นและกระตุ้นให้เปลี่ยนถ่ายน้ำหนักตัว หรือการยกก้นลอยจากที่นั่งทุก 30 นาที

 

การดูแล แขนขาเทียม

 

– เบ้าขาเทียม ขาอ่อนพีไลท์ อุปกรณ์เสริมพลาสติกและโลหะ ควรทำความสะอาดทุกวัน โดยใช้ผ้าหมาด ๆ เช็ด โดยอาจจะใช้น้ำสบู่อ่อน ๆ และเช็ดตามด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ผึ่งให้แห้งโดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่าผมหรือลมร้อน เพราะจะมีผลต่อองค์ประกอบ
– หลีกเลี่ยงการวางแขนขาเทียมใกล้แหล่งความร้อน
– เมื่อถอดเก็บ แขนเทียมควรแขวนไว้ด้วยส่วนที่เป็นหนัง ไม่ควรใช้ส่วนที่เป็นสลิง เพราะอาจทำให้ชำรุดได้ ส่วนขาเทียมควรวางแนวนอนเพื่อป้องกันการล้มกระแทก
– ระมัดระวังไม่ให้เปียกน้ำ โดยเฉพาะส่วนที่เป็น ข้อต่อ
– ถุงสวมตอขา ควรซักทำความสะอาด และตากให้แห้ง

 

การเกิดแผลกดทับ สามารถแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามความรุนแรงและความลึกของแผล

 

1.ระดับที่ 1 รอยแดงช้ำ รักษาได้ด้วยการพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง จัดท่านอนให้เหมาะสม
2.ระดับที่ 2 แผลตื้นระดับผิว ควรทำแผลโดยใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผลและสำลีชุบน้ำเกลือบริเวณแผล ปิดด้วยผ้าก๊อซ และดูแลด้วยการพลิกตะแคงตัวและจัดท่านอนเหมือนในระดับ 1
3.ระดับที่ 3 แผลลึกระดับเนื้อเยื่อใต้ผิว ควรปรึกษาแพทย์
4.ระดับที่ 4 แผลลึกถึงระดับกล้ามเนื้อ กระดูก ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องตัดเล็มเนื้อตายออก

 

ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหลายรายจำเป็นต้องใช้เครื่องพยุงเดินในการจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ซึ่งอุปกรณ์พยุงเดินนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น วอกเกอร์ ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า ซึ่งอุปกรณ์แต่ละแบบจะมีความเหมาะสมต่อการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป จึงควรที่จะรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด และมีการฝึกใช้งานที่ถูกวิธี

 

นอกจากคนพิการจะต้องดูแลรักษาร่างกายของตัวเองอย่างถูกวิธีแล้ว ยังจำเป็นต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ประจำตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นขาเทียม แขนเทียม เครื่องมือพยุงเดิน รถเข็น ต้องดูแลรักษาขณะใช้ และหลังใช้อย่างถูกวิธี ฉะนั้นแล้วผู้ป่วยควรได้รับการฝึกการใช้งานจากผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย แก่ตนเองและเครื่องมือ

 

ไม่ว่าอย่างไรการเคลื่อนไหวก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงควรที่จะได้รับการฝึกฝน และพัฒนาอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแค่นี้ อย่าลืมดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ให้เสมือนหนึ่งเป็นอวัยวะข้างกายเราจริง ๆกันด้วยนะคะ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *