ตัวอย่างโครงการยิ้มสู้ ของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ปลุกปั้นแบรนด์ของพวกเขาขึ้นมา เพื่อใช้สร้างโอกาสทางอาชีพให้กับคนพิการโดยจะเป็นการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคมกลุ่มนี้ได้ต่อยอดสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพวกเขาในอนาคต
โดยทีมข่าวได้พบกับชาย 1 ในผู้พิการทางการได้ยินและการพูดจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน หรือ คาเฟ่ยิ้มสู้ ที่ผ่านการฝึกอบรมจนสามารถเป็นบาริสต้าได้ แม้จะมีข้อจำกัดในการสื่อสารกับลูกค้าไปบ้าง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกเขาย่อท้อในการประกอบอาชีพ แต่ยังคงทำมันได้ดีในระดับที่เทียบเท่ากับบาริสต้ามืออาชีพ
ทั้งนี้ นอกจากคาเฟ่แล้วด้านเกษตรกรรมก็เป็นอีกทางเลือกที่โครงการยิ้มสู้ได้อบรมความรู้ทั้งการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางและปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึงการเลี้ยงจิ้งหรีดขายเพื่อยังชีพในเบื้องต้น ซึ่งจะคัดเลือกงานให้เหมาะกับสภาพร่างกายและความสนใจของแต่ละบุคคล ผ่านการจ้างงานของภาคเอกชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้พวกเขามีรายได้และเงินปันผลบางส่วนจากการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านี้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในพื้นที่เพื่อการประกอบอาชีพร่วมกัน
ขณะเดียวกันการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมของพวกเขาก่อนเข้าสู่ช่วงการศึกษาเบื้องต้น หรือ โรงเรียนรวมสำหรับผู้พิการ ซึ่งจะอบรมอาชีพให้กับพวกเขาในอนาคต โดยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวนเกือบ 2 ล้านคน หรือ ราวร้อยละ 3.01ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีวัยทำงานกว่า 8 แสนคน แต่มีเพียง 2 แสนคนเท่านั้นที่มีงานทำ การมอบโอกาสทางอาชีพจะช่วยลดอัตราการว่างงานของพวกเขาให้หันมาพึ่งพาตัวเองได้ในเบื้องต้น
สำหรับใครที่สนใจอุดหนุนกลุ่มผู้พิการกลุ่มนี้ก็สามารถแวะไปซื้อเครื่องดื่ม อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ที่ร้านยิ้มสู้ทุกสาขา หรือ สอบถามรายละเอียดได้ผ่านเพจเฟสบุคมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ