ชวนทำ ความรู้จักความพิการประเภทที่ 2 ความพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมาย

 

การได้ยิน

 

เป็นความผิดปกติในการได้รับเสียง โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระยะตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากอุบัติเหตุ และสาเหตุทางกายอื่น ๆ ในภายหลังได้เช่นกัน ซึ่งเกณฑ์การได้ยินมีดังนี้ คือ

 

1.ได้ยินปกติ คือ ไม่มีความยากลำบากในการเข้าใจภาษา
2.หูตึงน้อย มีความยากลำบากในการฟังเสียงเบา ๆ หรือคำพูดระยะไกล
3.หูตึงปานกลาง เข้าใจเข้าใจคำพูดในระยะ 3-5 เมตร
4.หูตึงมาก เข้าใจคำพูดในระดับปกติได้ยาก ต้องใช้เสียงที่ดังกว่าปกติ
5.หูตึงรุนแรง ได้ยินเสียงตะโกนใน 1 ฟุต แต่ไม่เข้าใจ
6.หูหนวก ไม่ได้ยินเสียงตะโกน

 

คำแนะนำสำหรับผู้มีความผิดปกติ

– หากหูตึงเพียงข้างเดียวอาจทำให้แยกแยะทิศทางของเสียงลำบาก ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เช่น การข้ามถนน การขับรถ
– ฝึกการอ่านปากร่วมด้วย ในกรณีต้องใช้เครื่องช่วยฟัง
– หากหูตึงรุนแรงจนไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ การฝึกอ่านปากและผ่าตัดเพื่อฝังประสาทหูเทียมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
– หากหูตึงแต่กำเนิด นอกจากเครื่องช่วยฟังแล้ว การฝึกฟังและฝึกพูด จะช่วยให้คุ้นชินกับสภาวะดังกล่าวได้

 

การป้องกันไม่ให้หูตึงมากขึ้น

– ปรึกษาแพทย์หากมีปัญหา ไม่หยอดยาหรือทำอะไรเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
– ไม่แคะ ไม่ล้างหู โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะของที่มีปลายแหลมคม
– ยาแก้แพ้บางชนิดมีผลต่อเด็กในครรภ์ สตรีตั้งครรภ์จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แต่ให้ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดอาการแพ้ท้อง
– หลีกเลี่ยงสถานที่เสียงดัง หากมีความจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
– ยาบางประเภทมีฤทธิ์ทำลายการได้ยิน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน
– หากมีอาการเวียนศีรษะควรปรึกษาแพทย์
– บ้านที่มีบุตรพิการทางการได้ยิน ควรตรวจสอบบุตรคนอื่น ๆ และพาบุตรที่มีปัญหาไปพบนักแก้ไขการได้ยิน

 

การดูแลรักษา เครื่องช่วยฟัง

– เมื่อไม่ใช้ให้เก็บใส่กล่อง หลีกเลี่ยงการวางไว้ในที่ร้อน อับหรือชื้น
– อย่าให้เปียกหรือโดนของเหลว
– อย่ากระแทกแรง ๆ
– ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าแห้งเช็ด อย่าใช้ของเหลวที่ระเหยได้ เพราะจะทำให้พลาสติกที่หุ้มเครื่องละลาย
– ถ้ามีเหงื่อมากหรือเครื่องชื้น ให้เก็บไว้ในกล่องที่มีตัวดูดความชื้น และถอดถ่านออกด้วยทุกครั้ง
– ใช้ถ่านสำหรับเครื่องช่วยฟังโดยเฉพาะ ‘’ห้าม”ใช้ถ่านนาฬิกา เพราะจะทำให้เครื่องเสีย
– ควรใส่ตลอดเวลา ถอดตอนอาบน้ำและตอนนอน มีถ่านสำรองพกติดตัวเสมอ
– ตรวจการได้ยินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

การสื่อความหมาย

 

การสื่อความหมายถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้อื่นทราบถึงความต้องการของผู้พูด แนวทางสำคัญในการสื่อความหมายคือการพูด ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นไจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

 

1.เกิดในวัยเด็ก ซึ่งสาเหตุอาจเป็นไปได้ทั้งอวัยวะหรือพัฒนาการ ได้แก่

 

– ประสาทหูพิการ ทำให้อาจมีการพูดได้ไม่สมวัย
– ปัญญาอ่อน ทำให้มีระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว ต่ำกว่าปกติ ทำให้ระดับการเรียนรู้จะลดน้อยตามลงไป ทำให้เด็กเริ่มพูดได้ช้า มีพัฒนาการที่ผิดปกติ
– สมองพิการ ทำให้มีความลำบากในการควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด และมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ประสานกัน
– ออทิสติก มีความผิดปกติในพัฒนาการด้านสังคม การสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์ ทำให้มีพัฒนาการทางการพูดล่าช้า ไม่สมวัย
– ขาดการกระตุ้นทางภาษาและการพูดที่เหมาะสม เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม จากการที่ผู้เลี้ยงขาดความรู้และประสบการณ์ นอกจากการสื่อความหมายแล้ว อาจมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมได้อีกด้วย

 

2.ความผิดปกติของการสื่อความหมายที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการหรือการเสียชีวิต ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

 

– สมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
– หลอดเลือดสมองแตก
โรคหลอดเลือดสมองนั้น ไม่ใช่เพียงด้านการสื่อความหมาย แต่จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเคลื่อนไหว อารมณ์ พฤติกรรม ความจำ การใช้เหตุผล ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่เกิดจากเนื้อสมองบริเวณนั้น โดยความผิดปกติด้านการสื่อความหมายอาจมีเพียงเล็กน้อยเพียงพูดไม่ชัดหรือรุนแรงจนถึงขั้นพูดไม่ได้เลย

 

นอกจากจะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังคงมีปัญหาทางด้านจิตใจและการสื่อสารด้วย ซึ่งผลกระทบนี้อาจรุนแรงเพียงกระทบต่อตัวเอง หรืออาจถึงขั้นกระทบต่อครอบครัวและสังคมได้ คนรอบข้างจึงควรที่จะทำความเข้าใจให้มากๆ และตอบสนองอย่างดี ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็ต้องพยายามปรับปรุงในส่วนที่ตัวเองทำได้เช่นกัน

 

คำแนะนำและข้อปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยทางการสื่อความหมาย

 

1.คนรอบข้างควรพูดให้ชัดเจน
2.คนรอบข้างควรพูดให้ถูกต้อง
3.ใช้ภาษาที่ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
4.พูดกับผู้ป่วยบ่อย ๆ
5.พูดให้ถูกหลักไวยากรณ์
6.ตั้งใจฟัง
7.อ่านหนังสือให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการฟัง
8.หัดเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำศัพท์ที่ต่างออกไป
9.หมั่นกระตุ้นผู้ป่วยบ่อย ๆ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและในด้านอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง
10.มีการตอบสนองที่เหมาะสมหรือให้รางวัลบ้าง จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยอยากที่จะพัฒนาตนเอง

 

ความพิการด้านการได้ยินและการสื่อความหมายนั้นเป็นความบกพร่องที่ทำให้การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอาจเกิดอุปสรรคได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องดูแลและพัฒนาศักยภาพ หรือแม้กระทั่งหาสิ่งอื่น ๆ เช่น เครื่องช่วยฟัง หรือ ความสามารถ เช่น ภาษามือ มาทดแทนในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างดีที่สุด

 

การฟังคือสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าทุกคนเอาแต่พูดเรื่องของตัวเอง โดยไม่รับฟังคนอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีวันจบไป ซึ่งทักษะตรงนี้หากเกิดความบกพร่องขึ้นแล้ว การหาทักษะอื่นมาทดแทนย่อมทำให้เรารับรู้ถีงสิ่งที่คนอื่นต้องการบอกได้เช่นกัน ถ้าคิดจะรับฟัง ไม่ว่าวิธีการไหน ๆ ย่อมรับรู้สิ่งที่ผู้อื่นต้องการจะสื่ออย่างแน่นอน

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  http://www.snmri.go.th/wp…/uploads/2019/11/voice_book.pdf

 

 

ขอขอบคุณ   คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *