ชวนทำความรู้จัก ความพิการประเภทที่ 1 ความพิการทางการมองเห็น

 

การมองเห็น คือ ประสาทสัมผัสที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของร่างกาย ความพิการที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิต จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ ตาบอด และสายตาเลือนราง จากค่าสายตาและลานสายตาที่ได้จากการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคนตาดีจำเป็นต้องคำนึงถึงความไม่สะดวกนี้และให้ความช่วยเหลือตามสมควร ได้แก่

 

สายตาเลือนราง

– ควรพาเด็กไปตรวจตาครั้งแรกเมื่ออายุ 6 เดือน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม

– ผู้ปกครองควรพาไปรักษาอย่างถูกวิธี และยอมรับในความผิดปกติดังกล่าว เพราะในหลายครั้งที่การไม่ยอมรับเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดการละเลยในการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดการเรียนรู้และพัฒนาตามวัย

– ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าว จึงทำให้เด็กขาดการรักษาและการพัฒนาให้สมวัย เด็กในวัยทารกจะยังไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ จึงต้องสังเกตพฤติกรรม เช่น

– เด็กอายุ 2-3 เดือนแล้วยังไม่จ้องหน้าพ่อแม่
– การมองเห็นไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น
– ตาเขหรือตาเหล่
– คอเอียงหรือหันหน้าไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

 

การดูแลผู้ป่วยสายตาเลือนราง

– สายตาเลือนรางในผู้ใหญ่หรือเด็กโต มักเป็นความพิการที่เกิดขึ้นภายหลัง จึงอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานและการใช้ชีวิต จึงต้องอาศัยการปรับตัวและความเข้าใจจากคนรอบข้าง

– กระตุ้นการเรียนรู้ประสาทสัมผัสด้านอื่น ๆ เช่น การฟังเสียง การดมกลิ่น

– แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่มีสีตัดกัน เช่น การใช้จานสีดำที่ตัดกับข้าวสีขาว ควรหลีกเลี่ยงภาชนะที่มีลวดลายเยอะ เครื่องใช้บางประเภท เช่น ขวดเครื่องปรุงควรใช้เป็นสีที่แตกต่างกันชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการแยกแยะ หากสิ่งไหนมีการระบุด้วยตัวอักษร ให้เพิ่มขนาด และเพิ่มความหนา

– การเดินทางของคนสายตาเลือนรางนั้นต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน ว่าอาจใช้การจดจำเส้นทาง การกวาดสายตาดูสิ่งกีดขวาง หรือบางคนอาจเลือกที่จะถือ ‘ไม้เท้าขาว’ ที่เป็นไม้เท้าสำหรับคนตาบอดก็ได้เช่นกัน เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยให้คนทั่วไปเกิดความระมัดระวังและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออีกด้วย

– จัดเรียงเฟอร์นิเจอร์ให้ชิดมุม ชิดผนัง เพื่อเลี่ยงการเดินชนและเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น

 

ตาบอด

– เด็กตาบอดนั้นจำเป็นต้องได้รับการฝึกประสาทสัมผัสด้านอื่น ๆ เพื่อทดแทนการมองเห็นที่สูญเสียไป โดยพฤติกรรมที่อาจพบเจอได้บ่อย เช่น

– ชอบนั่งหลบมุม แยกตัวเพียงลำพัง ไม่เล่นกับเพื่อน ๆ

– ไม่ชอบเคลื่อนไหว

– ชอบสัมผัส แคะ แกะ เกา

– ชอบดมหรือใช้ลิ้นเลีย

– สำหรับคนตาบอดที่เริ่มโตหรือมีอายุแล้ว จะมีประสบการณ์การใช้ชีวิต จึงมักจะมีปัญหาทางด้านจิตใจตามมาหรือครอบครัวที่อาจจะให้ความสงสาร ทำให้คนตาบอดไม่ได้ทำอะไรหรือออกไปไหน จึงขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตแบบใกล้เคียงคนปกติ

 

การรักษาและพัฒนาตัวของผู้พิการ นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการมากขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้คนพิการสามารถใช้สายตาหรือประสาทสัมผัสด้านอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม และสามารถดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาทางกายเท่านั้น แต่รวมไปถึงจิตใจ อารมณ์ตลอดจนสังคมอีกด้วย โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ดังนี้

 

1.การฟื้นฟูทางการแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความพิการมากขึ้นไปอีก โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1.1 การรักษา เพื่อแก้ไขหรือลดความพิการให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้เกิดความพิการมากขึ้นอีก เริ่มต้นจากการวินิจฉัยโรค ตลอดจนหาสาเหตุของความพิการ

1.2 ด้านการดำรงชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับสภาวะที่เป็นอยู่ได้ เช่น

– การแนะนำเครื่องมือแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับสถานการณ์ และยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และอยากที่จะพัฒนาตนเอง

– ให้เครื่องมือไปทดลองใช้งาน เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและเกิดความชำนาญ เรียนรู้ข้อจำกัดของเครื่องมือต่าง ๆ

– แนะนำสถานที่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ผู้พิการได้

-ให้การรักษาและฟื้นฟูกันอย่างต่อเนื่อง

 

2.การฟื้นฟูทางการศึกษา

2.1 สำหรับผู้มีสายตาเลือนราง สามารถเรียนร่วมกับคนอื่นในชั้นเรียนปกติได้ แต่อาจต้องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น แว่นขยาย สื่อการเรียนการสอนขนาดใหญ่พิเศษ

2.2 ตาบอด แบ่งออกได้อีก 2 กลุ่ม คือ

2.2.1 ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ควรเรียนในโรงเรียนคนตาบอดหรือชั้นเรียนพิเศษ
2.2.2 สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้ใช้หลักสูตรปกติ เรียนร่วมกับคนทั่วไป แต่อาจจะมีการปรับปรุงเนื้อหาในบางส่วน ควรได้รับคำแนะนำจากศึกษานิเทศก์

 

3.การฟื้นฟูทางสังคม ควรเริ่มฝึกกิริยาที่ทำกันเป็นปกติ เช่น การแต่งตัว มารยาทการเข้าสังคม ลดพฤติกรรมแปลก ๆ ที่คนตาบอดชอบทำ เช่น การหลบในที่มืด การเอานิ้วกดบริเวณลูกตา และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ก็ควรจัดเตรียมให้เหมาะต่อความปลอดภัยและให้การช่วยเหลือต่อคนตาบอด เช่น เสียงสัญญาณข้ามถนน ทางเดินเฉพาะสำหรับคนตาบอด

 

4.การฟื้นฟูทางอาชีพ ควรจัดให้มีการฝึกฝนต่ออาชีพที่เหมาะสม เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและช่วยให้คนตาบอดสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ หมอนวด นักดนตรี ครูพนักงานพิมพ์ดีด

 

ผู้พิการทางสายตาคือผู้ที่มีความพิการที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ตาบอด ดังนั้นแล้วการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่มองไม่เห็นและมีแต่ความมืดย่อมเกิดอุปสรรคและความอันตรายในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความช่วยเหลือหรือการจัดสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต การจัดหาอุปกรณ์และพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อคนพิการ และคนพิการเองต้องหมั่นเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ฝึกฝน พัฒนาตัวเองตามแต่ศักยภาพที่ตนเองมี

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  http://www.snmri.go.th/…/uploads/2019/11/vision_book.pdf

 

 

ขอขอบคุณ   คนพิการต้องมีงานทำ – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *