ว่าที่บัณฑิตป้ายแดงรั้ว “จามจุรี” ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย ใจสู้…สู่ความสำเร็จ

ว่าที่บัณฑิตป้ายแดงรั้ว “จามจุรี” ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย ใจสู้…สู่ความสำเร็จ

 

ข่าวจากหน้ากลางไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 63 นายว้าก รายงาน

 

“วันรับปริญญา” หนึ่งเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของหลายๆ คน เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีของบัณฑิต ผู้มุ่งมั่นพากเพียรจนสำเร็จการศึกษาด้วยความภาคภูมิใจ

 

โดยปีนี้มีบัณฑิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องพยายามฟันฝ่าอุปสรรคมากกว่าบัณฑิตคนอื่นๆ เนื่องจากมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย แต่เพราะด้วยพลังใจเต็ม 100 ทำให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดจนประสบความสำเร็จในชีวิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้อย่างเต็มภาคภูมิ นายว้ากจึงไม่ประหลาดใจที่จะไปเจ๊าะแจ๊ะถามไถ่เคล็ดลับและความประทับใจของว่าที่บัณฑิตป้ายแดงในครั้งนี้

 

เริ่มที่ “แฟลช” ชรัส ลิมป์พงษ์สวัสดิ์

ว่าที่บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์เกียรตินิยมอันดับ 1 ยิ้มก่อนจะบอกว่า “แม้ผมจะไม่สามารถใช้มือทั้งสองข้างได้ตามปกติ แต่ความบกพร่องทางด้านร่างกายก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในรั้วจุฬา”

 

ผมทุ่มเทเต็มที่ให้กับการเรียนสี่ปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจเรียนในห้องเรียนและทบทวนสิ่งที่เรียนมาหลังเลิกเรียน นอกจากนี้ผมยังแบ่งเวลาจากการเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมค่าย เป็นสมาชิกสภานิสิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการร้องเพลงที่ผมรัก โดยเป็นนักร้องวง CU Chorus และได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดร้องเพลง CU Singing Contest เข้าถึงรอบ 10 คนสุดท้าย

 

ในระหว่างที่เรียนเพื่อนๆ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ ช่วยแชร์ความรู้ทางวิชาที่เราถนัดและไม่ถนัด ส่วนอาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะก็ให้การดูแลเป็นอย่างดี ที่คณะจะมีห้องน้ำแบบพิเศษให้บริการสำหรับนิสิตที่พิการเนื่องจากผมไม่สามารถเข้าห้องน้ำแบบปกติได้

 

แต่ก็อยากให้เพิ่มเติมในเรื่องของทางเดินที่เหมาะกับทุกคน อยู่ในที่ร่มก็สามารถเดินไปยังที่ต่างๆ ได้โดยไม่เปียกฝน มีลิฟท์ตามอาคารต่างๆเพิ่ม นอกจากนั้นการลดช่องว่างของบางกิจกรรมและเพิ่มช่องทางที่ช่วยตอบสนองความต้องการที่มีความแตกต่างอย่างครบถ้วน เป็นสิ่งที่สามารถผลักดันข้อจำกัดของทุกคนขึ้นไปได้อีก

 

ขณะที่ “จ๊ะโอ๋” ธนัชชา โอภาณุรักษ์

ว่าที่บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ เผยถึงการเรียนให้ประสบความสำเร็จว่าจะต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี พยายามฟังอาจารย์สอนในห้องเรียนและทบทวนบทเรียนหลังเลิกเรียน ตลอดจนตั้งคำถามพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ

 

4 ปีในจุฬาได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์เพื่อนๆ ในคณะและมหาวิทยาลัยอย่างดี ล่าสุดคือการซ้อมรับปริญญาซึ่งรู้สึกประทับใจมาก หลังจบการศึกษาแล้ว จ๊ะโอ๋เตรียมตัวสอบเนติบัณฑิต เพื่อที่จะสอบเป็นอัยการต่อไป ส่วนตัวแล้วจ๊ะโอ๋มองว่า แต่ละคนมีความหลากหลายที่แตกต่างกันทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ อยากให้ทุกคนหันมาสนใจคนรอบข้างให้มากขึ้นเพื่อสังคมจะได้น่าอยู่ ทั้งจ๊ะโอ๋มองว่าบางส่วนยังขาดการมองเห็นความสำคัญในเรื่องโอกาสและความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการในการใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติ เช่น
-ทางเท้าไม่มีทางลาด
-รถโดยสารสาธารณะไม่มีบันไดสำหรับผู้พิการ

 

“วิน” ปวิน เปี่ยมไทย

ว่าที่บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมแชร์ความรู้สึกว่าปลาบปลื้มใจมากที่ได้เป็นบัณฑิตจุฬาและได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเรียนจบได้รับปริญญาที่จุฬา ผมเป็นนักเรียนในโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริผมเป็นนิสิตที่พิการทางสายตาคนแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งคณะได้ให้ความช่วยเหลือโดยการปรับการเรียนการสอนและมีการจัดทำสื่อการเรียนให้โดยเฉพาะ

 

แม้ว่าสังคมทั่วไปยังให้สิทธิแก่คนพิการอย่างจำกัด แต่สำหรับจุฬาฯ ได้ให้ความสำคัญสำหรับนิสิตที่มีความบกพร่องทางร่างกาย โดยอาจารย์และเพื่อนๆ คอยให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆมาโดยตลอด
• คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร
• แต่ต้องการโอกาสที่จะเดินทางตามความฝันของตนเอง

 

ปิดท้ายที่ “ปั้น” ประวิทย์ ดีเลิศวงศ์

เล่าว่า ภูมิใจมากที่เรียนจบ พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่พยายามมานานในที่สุดก็สำเร็จ เคล็ดลับในการเรียนของผมคือความตั้งใจ พยายามฟังอาจารย์สอน เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านร่างกายจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ผมเขียนหนังสือได้ช้า เพื่อนๆ จะให้ยืมเล็คเชอร์เวลาที่ผมขาดเรียนก็จะตามบทเรียนจากเพื่อน บางทีเพื่อนก็จะ LINEบอกว่า วันนี้เรียนไปถึงไหนแล้ว การเรียนอาจจะมีอุปสรรคหรือความลำบากบ้างเช่น การเคลื่อนที่ การเดินทางแต่ทางคณะและมหาวิทยาลัยก็อำนวยความสะดวกให้ ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

ถ้าเป็นไปได้อยากให้เพิ่มในเรื่องของการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆสำหรับผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ ให้มากขึ้น

 

ส่วนอนาคตผมอยากรับราชการเป็นผู้พิพากษา แต่ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ขณะนี้ภาครัฐให้พื้นที่สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายพอสมควร ส่วนในภาคเอกชนก็ยังไม่ค่อยได้รับโอกาสมากนัก อยากให้การเปิดโอกาสในส่วนนี้ให้มากขึ้น

 

เห็นมุมมองแง่คิดดีดีและความมุ่งมั่นของเหล่าว่าที่บัณฑิตป้ายแดงจากรั้วจามจุรีแล้ว นายว้ากขอร่วมแสดงความยินดีและขอกดไลท์แบบรัวรัวชื่นชมในความวิริยะอุตสาหะก้าวสู่ความสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.chula.ac.th/clipping/34573/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *