5 เช็กลิสต์ เลือกโรงพยาบาลดูแลผู้สูงอายุ สุขใจผู้สูงอายุ สบายใจลูกหลาน

 

โรงพยาบาล อีกหนึ่งสถานที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในบ้านที่ลูกหลานทุกคนควรมีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า หากผู้สูงอายุในบ้านเกิดเจ็บป่วยหรือมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัว ฟื้นฟูหลังผ่าตัดสมอง หัวใจ หรือสะโพก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยติดเตียงด้วยภาวะเส้นเลือดตีบในสมอง อัมพาต อุบัติเหตุ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งมักตามมาด้วยความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย เกิดแผลกดทับ ขาดสารอาหาร เป็นต้น ส่งผลให้การดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จำเป็นต้องดูอย่างใกล้ชิด ด้วยความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง

 

 

ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังโรคภัยไข้เจ็บในช่วงนี้ด้วยแล้ว หากจำเป็นต้องพาผู้สูงอายุมารับการดูแลรักษาตามโรงพยาบาล ลูกหลานอย่างเราก็ยิ่งเป็นกังวลว่าคนที่เรารักจะปลอดภัยหรือไม่ จะได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์พยาบาล รวมถึงการใส่ใจในการบริการจากทางโรงพยาบาลได้ใกล้ชิดมากน้อยแค่ไหน เพื่อคลายความกังวลของผู้สูงอายุและลูกหลาน วันนี้เรา มี 5 เช็กลิสต์ ในการเลือกโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุในครอบครัวมาฝากกัน

 

5 เช็กลิสต์ เลือกโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ

 

1.ได้รับมาตรฐานรับรองคุณภาพ

เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกโรงพยาบาลให้กับผู้สูงอายุในครอบครัว คือ มาตรฐานการรักษาพยาบาล ความปลอดภัยของตัวผู้สูงอายุเองเมื่อมาใช้บริการโรงพยาบาล ที่ยุคนี้ตามโรงพยาบาลต่างๆ มีการเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการรักษากันอย่างจริงจัง

 

โดยปกติแล้ว โรงพยาบาลทั่วไปจะมีมาตรฐานในการบริการอยู่แล้ว เช่น Hospital Accreditation (HA) ที่เป็นการรับรองถึงการจัดการระบบงานที่ดี ส่งเสริมให้การบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพและปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้ป่วยอยู่แล้ว

 

และหากโรงพยาบาลนั้นได้การรับรองมาตรฐานระดับโลกหรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ก็ยิ่งเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากมาตรฐานระดับ world class นั้น กว่าที่จะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด และมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี เป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย ด้วยบริการคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลอย่างแน่นอน

 

 

2.บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่รักษา ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุ

เรื่องที่สองที่มองข้ามไม่ได้เลย นั่นคือ เรื่องของขอบข่ายการบริการของทางโรงพยาบาล ครบถ้วนเพียงพอตามความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่เสื่อมถอยลง การรักษาอาการป่วยจากโรคหนึ่งอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู หรืออาจต้องใช้เวลาในการดูแลฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่ง หากโรงพยาบาลที่ให้การรักษา ไม่มีบริการในส่วนของการฟื้นฟูดูแลเฉพาะทาง ก็อาจต้องทำให้ลูกหลานต้องวิ่งวุ่นกับการหาสถานที่พักฟื้นร่างกาย การย้ายผู้ป่วยสูงอายุจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของผู้สูงอายุได้

 

 

3.มีทีมแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุประจำโรงพยาบาล

เรื่องถัดมา คือ ต้องดูว่าโรงพยาบาลนั้น มีแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์การดูแลรักษาผู้สูงอายุหรือไม่ เช่น แพทย์อายุรกรรมสมอง แพทย์อายุรกรรมทั่วไป แพทย์ศัลยกรรม แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์นิติเวช เพราะการดูแลรักษาโรคในผู้สูงอายุแต่ละโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เฉพาะด้านในการตรวจวินิจฉัยได้ตรงจุด และสามารถประเมินอาการได้เหมาะสมกับอาการ และหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับผู้สูงอายุ ลูกหลานก็มั่นใจได้ว่าผู้สูงอายุจะถึงมือหมออย่างรวดเร็ว

 

นอกจากการมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่ให้การตรวจรักษาผู้สูงอายุแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ สหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาฟื้นฟู หรือดูแลหลังการรักษาให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลวิชาชีพที่เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เภสัชกร นักโภชนาการ เจ้าหน้าที่ดูแลที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ

 

 

4.ห้องพักฟื้นที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

เรื่องที่ 4 ก็คือ ห้องพักฟื้นที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะหรือไม่ ด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่เสื่อมถอยลง สุขภาพที่อ่อนแอ ห้องพักฟื้นผู้ป่วยตามโรงพยาบาลทั่วไปที่ออกแบบมาให้เอื้อต่อการใช้งานสำหรับผู้ป่วยทั่วไป อาจยังไม่ตอบโจทย์มากพอสำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่เรี่ยวแรงถดถอย หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก

 

เมื่อผู้ป่วยคือผู้ป่วยสูงอายุ การออกแบบห้องพักฟื้นจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป ต้องมากกว่าสวยงามแต่มาพร้อมความปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน เช่น ประตูห้องและส่วนอื่นๆ เช่น ห้องน้ำ ต้องกว้างเพียงพอให้เข็นรถเข็นเข้าไปได้ ภายในห้องพัก จะต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน เช่น กริ่งฉุกเฉินในห้องน้ำ ปลั๊กไฟฉุกเฉินบริเวณเตียงนอน ในกรณีที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ การเลือกใช้โทนสีสบายตาและการจัดห้องให้โปร่งโล่ง ฯลฯ

 

 

5.บรรยากาศที่เข้าใจทั้งผู้สูงอายุและลูกหลาน

เชื่อว่าหลายคนเคยเจอ เวลาที่ลูกหลานจะพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล ผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่อยากมา เพราะกลัวคุณหมอ กลัวโรงพยาบาล หรือไม่ชอบบรรยากาศของโรงพยาบาล

 

การออกแบบ และตกแต่งภายในโรงพยาบาลที่ช่วยให้บรรยากาศของคำว่า โรงพยาบาลดูอ่อนโยน เป็นมิตร ให้ภาพที่ใกล้เคียงกับการอยู่ในบ้านหรือเหมือนได้ไปพักผ่อนตามโรงแรม จะทำให้ผู้สูงอายุรวมถึงลูกหลาน รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อต้องมาโรงพยาบาล

 

ที่สำคัญ คนที่มาโรงพยาบาลไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะมีลูกหลานติดตามมาให้กำลังใจอีกด้วย ถ้าบรรยากาศของโรงพยาบาลทำให้ลูกหลานสบายใจ ความรู้สึกนี้ก็จะส่งต่อไปยังผู้สูงอายุได้เช่นเดียวกัน

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1917804

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1917804

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *