นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีมีการสุ่มสำรวจสะพานลอยคนเดินข้ามของหน่วยงานรัฐ บริเวณย่านชุมชน ที่ทำงาน และที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก พบปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความบกพร่องของการสร้างสะพานลอยตามกฎหมาย ราวจับสะพานลอยเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอันตราย รวมถึงไม่มีทางลาดสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็นในการเดินทาง ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานแล้ว สะพานลอยในพื้นที่สำรวจยังสร้างไม่ได้มาตรฐานเพียงพอว่า การพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งสะพานลอยคนเดินข้ามของกรุงเทพมหานคร จะพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากำหนดจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีหลักเกณฑ์โดยสังเขป ประกอบด้วย ด้านกายภาพ บริเวณที่จะก่อสร้างสะพานคนเดินข้าม ต้องมีความกว้างของถนนและทางเท้าที่เหมาะสมและด้านสถิติข้อมูลจราจร ถนนที่จะก่อสร้างสะพานคนเดินข้าม ต้องเป็นบริเวณที่มีปริมาณคนเดินข้ามและมีปริมาณการจราจรทั้งสองทิศทางที่เหมาะสม ขณะเดียวกันสำนักงานเขตพิจารณาดำเนินการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยใช้แบบสะพานลอยตามที่สำนักการโยธากำหนด
นอกจากนี้สำนักการโยธาใช้รูปแบบมาตรฐานการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนตามแบบมาตรฐาน โดยกำหนดให้ความสูงขั้นบันไดอยู่ที่ 17.5 เซนติเมตร ความกว้างขั้นบันไดอยู่ที่ 30.0 เซนติเมตร ซึ่งสอดคล้องกับแบบมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบท สำหรับสะพานลอยคนเดินข้ามที่ยังไม่ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) จะประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เพื่อพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ สำนักการโยธา ได้กำชับเจ้าหน้าที่เข้าซ่อมบำรุงรักษาสะพานลอยให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง เพิ่มความปลอดภัยในการใช้สะพานลอยให้ประชาชน
ขอขอบคุณ https://www.ryt9.com/s/prg/3146723
และภาพประกอบจาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร Public Works Department