คนพิการกู้เงินได้สร้างอาชีพ มีรายได้ พึ่งพาตัวเอง

พก.ตอกย้ำแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”เดินหน้าส่งเสริมศักยภาพคนพิการ ให้กู้ยืมเงินเป็นทุนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงมอบหมายให้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ดำเนินการตามนโยบายประชารัฐ เพื่อให้คนพิการมีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง พึ่งพาตนเองได้ โดยการให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

นายสมคิด กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 23 เพื่อเป็นทุน สําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพ คนพิการ การศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมให้บริการภารกิจหลักสำคัญ ได้แก่ การให้บริการการกู้ยืมเงินคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนไปประกอบอาชีพของคนพิการ ในปัจจุบัน ให้วงเงินกู้รายบุคคลไม่เกิน รายละ 60,000 บาท ผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงิน เกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปโดยไม่เกิน 120,000 บาท และการกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมเป็นรายบุคคล จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) มีบัตรประจำตัวคนพิการ 2) มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ 3) มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน 4) บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีหรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) 5) มีภูมิลําเนาตามทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคําขอกู้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน 6) ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้เงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 7) กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมด และ 8) มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน

ส่วนกรณีเป็นผู้ดูแลคนพิการ 1) มีคุณสมบัติเดียวกับกู้ยืมเป็นรายบุคคล (ข้อ 2 – 8) 2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 3) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สินจากกองทุน 4) คนพิการซึ่งอยู่ในความดูแลเป็นผู้เยาว์ ผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ออทิสติก สติปัญญา หรือมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ 5) ต้องรับดูแลคนพิการหรืออุปการะคนพิการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ยืมเป็นรายกลุ่ม 1) เป็นกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน หรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ ทั้งนี้ ต้องมีสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 2 คน 2) มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 3) ดำเนินกิจการของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขอต่อเนื่องจนถึงวันยื่นคำขอแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 4) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง 5) มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีความประสงค์ขอกู้ยืม ที่มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพมหานคร ส่วนบุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่า 90 วัน

“พก. นับเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีความเป็นธรรม ทั่วถึงทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ในปี 2561 พก. มีแผนการดำเนินงานที่จะส่งเสริมให้คนพิการไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผ่านกลไกกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยถือเป็นการปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคม จากภาระเป็นพลังของสังคมก่อให้เกิดกระแสความรับรู้ สร้างความตระหนักในการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการ ก่อให้เกิดการมีอาชีพ รายได้ ที่มั่นคง และพึ่งพาตนเองได้ต่อไป”        ขอบคุณ… https://www.dailynews.co.th/regional/630762

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *