เบโธเฟน แต่งบทเพลงอมตะได้อย่างไรทั้งที่หูหนวก

วิลเลียม มาร์เกซ

บีบีซี นิวส์ มุนโด

 

Portrait of Ludwig van Beethoven when composing the Missa Solemnis', 1820. Stieler, Joseph Karl (1781-1858). Found in the collection of the Beethoven-Haus, Bonn.

 

กรุงเวียนนา วันที่ 7 พ.ค. ปี 1824 เหล่าเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และบุคคลสำคัญด้านวัฒนธรรม ต่างมุ่งหน้าไปยังโรงละคร Kärntnertortheater ในเมืองหลวงของออสเตรียเพื่อชมการแสดงรอบปฐมทัศน์ “ซิมโฟนีหมายเลข 9” ของ ลุดวิก แวน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven)

 

ผู้ชมต่างคาดหวังกับการแสดงครั้งนี้ไว้อย่างสูง

 

นักประพันธ์เพลงและวาทยากรผู้นี้ห่างหายจากการสร้างสรรค์บทเพลงซิมโฟนีมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เขายังหายหน้าจากการแสดงบนเวทีมาร่วม 12 ปีแล้ว

 

แต่ในที่สุดเขาก็ปรากฏตัวขึ้น ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมายืนที่แท่นด้านหน้าวงออร์เคสตราวงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยุคนั้น เพื่อแสดงคอนเสิร์ตที่ไม่เหมือนกับครั้งใด ๆ

 

Drawing of Beethoven conducting an orchestra

 

และถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการแสดงโดยรวมเอาเสียงของนักร้องเข้ามาไว้ในบทเพลงซิมโฟนีด้วย

 

ขณะที่หันหลังให้กับผู้ชม เบโธเฟน ก็เริ่มนำนักดนตรีบรรเลงบทเพลงของเขาด้วยอารมณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความลุ่มหลง เขาโยกร่างกาย และขยับแขนไปตามเสียงดนตรี

 

เบโธเฟนเคลิบเคลิ้มกับมันมาก จนเมื่อบทเพลงจบลงเขายังคงแสดงท่าทางต่อไป ทำให้นักร้องคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าคือนักร้องคอนทราลโตที่ชื่อ คาโรลีน อุงเงอร์ ต้องเข้าไปจับตัวเขาให้หันหน้าออกไปหาผู้ชมเพื่อที่จะได้เห็นพวกเขากำลังปรบมือกันอย่างกึกก้อง

 

แต่ตอนนั้น เบโธเฟน ได้กลายเป็นคนหูหนวกไปเสียแล้ว

 

ค่ำคืนแห่งความทรงจำ

Period engraving of Beethoven on stage, conducting the Ninth Symphony

ภาพวาดเบโธเฟนในการแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีหมายเลข 9

 

ศาสตราจารย์ลอรา ทันบริดจ์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของเบโธเฟนที่ชื่อ Beethoven: a life in nine pieces ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า มีคำบอกเล่ามากมายของผู้คนที่อยู่ในการแสดงครั้งนั้น

 

“เขาอยู่ที่โพเดียมในการแสดงรอบปฐมทัศน์ (ของซิมโฟนีหมายเลข 9) แต่มีผู้กำกับการแสดงดนตรีคนหนึ่งอยู่ข้าง ๆ เพื่อคอยดูแลให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เพราะในตอนนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเบโธเฟนไม่ใช่วาทยากรผู้ที่อยู่กับร่องกับรอยมานานแล้ว” ศ.ทันบริดจ์ กล่าว

 

“ดูเหมือนว่าเสียงปรบมือจะเกิดขึ้นในท่อนหนึ่งของเพลง เพราะผู้ชมอยากฟังมันซ้ำอีกรอบ”

 

นี่อาจกลายเป็นค่ำคืนแห่งความโกลาหลได้ เพราะนักแต่งเพลงและวาทยกรเป็นคนหูหนวก เพลงซิมโฟนีมักมีความยาวและซับซ้อน อีกทั้งในสมัยนั้นนักดนตรีมักมีการซักซ้อมกันน้อยมาก

 

“มันน่าทึ่งที่การแสดงครั้งนั้นออกมาดีมาก ทั้งที่ไม่มีการเตรียมตัวกันมากนัก” ศ.ทันบริดจ์ กล่าว

 

“ดนตรีคือศิลปะรูปแบบหนึ่ง”

Composite image of the front cover of "Beethoven: a life in nine pieces" and a portrait of Laura Tunbridge

ศ.ลอรา ทันบริดจ์ เขียนหนังสือ Beethoven: a life in nine pieces เนื่องในวาระครบรอบ 250 ปีวันเกิดของเบโธเฟน

 

คอนเสิร์ตครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์และโศกนาฏกรรมในชีวิตของเบโธเฟน

 

เขาเกิดที่เมืองบอนน์ ของเยอรมนีเมื่อปี 1770 ซึ่งครบรอบ 250 ปีในปี 2020 แม้จะมีความไม่ชัดเจนเรื่องวันเกิดของเขา โดยเชื่อกันว่าเขาเกิดวันที่ 16 ธ.ค. แต่มีบันทึกว่าเขาเข้าพิธีบัพติศมาเป็นคริสต์ศาสนิกชนเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.

 

เขาคือนักประพันธ์เพลงผู้เปี่ยมไปด้วยพลัง จินตนาการ และความหลงใหล ที่มาพร้อมกับบุคลิกอันซับซ้อนและย้อนแย้ง

 

ชีวิตวัยเด็กของเขาตรงกับสมัยสงครามนโปเลียนซึ่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองไปทั่วยุโรป

 

แม้จะเกิดในเยอรมนี แต่เบโธเฟนก็ได้รับการยอมให้เป็นหนึ่งในนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเวียนนา เมืองหลวงแห่งดนตรีคลาสสิคที่ถือว่านักดนตรีชื่อก้องโลกอย่าง โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท, โยเซฟ ไฮเดิน, ฟรันซ์ ชูเบิร์ต และ อันโตนิโอ วิวัลดี คือคนของเมือง

 

ศ.ทันบริดจ์ กล่าวว่า “ในหลายแง่มุมเขา (เบโธเฟน) ได้ปฏิวัติขอบเขตของดนตรีในเชิงของเสียงและระดับความดัง”

 

“ความทะเยอทะยานของเขา บวกกับแนวคิดว่าดนตรีสามารถสื่อถึงความนึกคิดและความรู้สึก เขาได้แสดงให้เห็นว่าดนตรีเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิง มันมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นมาก”

 

“เบโธเฟนคือบุคคลสำคัญในการยกระดับดนตรีไปสู่การเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง” เธอบอก

 

ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นที่รู้จักในฐานะคนเจ้าอารมณ์ เห็นแก่ตัว หลงตัวเอง ไม่ชอบเข้าสังคม บึ้งตึง โหยหาความรัก รุ่มร่าม ตระหนี่ คอยหมกมุ่นอยู่กับเรื่องสุขภาพของตัวเอง และเป็นคนติดเหล้า

 

ชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพรุมเร้า

Paintin of Beethoven in the countryside, found in the Collection of Philharmonie de Paris, France.

เบโธเฟนมีแนวคิดว่าดนตรีสามารถสื่อถึงความนึกคิดและความรู้สึก เพราะมันคือศิลปะไม่ใช่ความบันเทิง

 

บุคลิกที่ไม่น่าพิสมัยของเบโธเฟนส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่เขาต้องทนทุกข์กับปัญหาสุขภาพมากมาย และต้องเผชิญกับวิธีการรักษาอันทรมานในสมัยนั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในยุคปัจจุบันหลายคนได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อระบุว่าเบโธเฟนต้องทนทุกข์กับโรคอะไรบ้าง และความเจ็บป่วยเหล่านี้ทำให้เขาสูญเสียการได้ยินไปได้อย่างไร รวมทั้งมันได้ส่งผลอย่างไรถึงบุคลิกและการสร้างสรรค์บทเพลงของเขา

 

นพ.เฮนรี มาร์ช ศัลยแพทย์ทางประสาทชาวอังกฤษได้รวบรวมอาการป่วยต่าง ๆ ของเบโธเฟนเพื่อหาว่ามันคือโรคอะไรในปัจจุบัน เอาไว้ในสารคดีของบีบีซีที่ชื่อ Dissecting Beethoven (ชำแหละเบโธเฟน)

 

หลังจากคีตกวีผู้นี้สิ้นลมเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ปี 1827 นพ.โยฮันเนส วากเนอร์ ผู้โด่งดังในยุคนั้นได้ทำการชันสูตรศพ แล้วพบว่าช่องท้องมีอาการบวม ตับเสียหายอย่างหนักและหดตัวเหลือเพียง 1 ใน 4 ของขนาดปกติ ซึ่งล้วนเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงโรคตับแข็ง

 

โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาในตระกูลของเบโธเฟน เพราะทั้งย่าและพ่อของเขาต่างก็เป็นนักดื่มตัวยง

 

Etching of Beethoven on his death bed.

แพทย์ทำการชันสูตรศพเบโธเฟน แล้วพบหลักฐานบ่งชี้ว่าเขาเป็นโรคตับแข็ง

 

ศ.ทันบริดจ์ เล่าว่า เบโธเฟน ดื่มไวน์เป็นประจำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น เนื่องจากน้ำไม่สะอาดปลอดภัยพอสำหรับการบริโภค

 

ดร.วิลเลียม เมเรดิธ นักวิจัยจากศูนย์เบโธเฟนศึกษา ที่มหาวิทยาลัยซานโฮเซ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งสมมุติฐานถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มไวน์กับภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว โดยใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ตัวอย่างเส้นผมของเบโธเฟนที่พบสารดังกล่าวตกค้างอยู่

 

ในยุคนั้นพ่อค้าไวน์มักหมักน้ำองุ่นในถังที่บุด้วยตะกั่ว เพื่อให้ได้เครื่องดื่มรสชาติดีโดยที่ไม่ล่วงรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่วอาจสร้างความเสียหายต่อระบบประสาท อย่างไรก็ตามยังไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าเบโธเฟนป่วยด้วยสาเหตุนี้

 

สูญเสียการได้ยินไปอย่างไร

Ludwig van Beethoven, illustration from a cigarette card album, author unknown, preserved at the Pictures of German History collection

เบโธเฟนเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย และหลบลี้หนีหน้าผู้คนจากปัญหาสุขภาพและการไม่ได้ยิน

 

สิ่งที่มีการพิสูจน์แล้วก็คือ การได้ยินของเขาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่ง นพ.วากเนอร์ ได้สังเกตและเขียนรายงานเรื่องนี้ไว้ในเอกสารการชันสูตรศพ

 

ดร.เมเรดิธ บอกบีบีซีว่า อาการหูหนวกของเบโธเฟน อาจเกี่ยวข้องกับโรคระบบการย่อยอาหารของเขา นอกจากนี้ เขายังบ่นอยู่เสมอว่าเป็นไข้สูงและปวดศีรษะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องทนทุกข์อยู่ตลอดชีวิต

 

ขณะที่ ดร.ฟิลิป แมคโกแย็ก จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เสนออีกทฤษฎีที่ว่า ภาวะหูหนวกของเบโธเฟน อาจเป็นอาการข้างเคียงของโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (congenital syphilis) ซึ่งทารกได้รับเชื้อจากแม่ที่ติดโรค อย่างไรก็ตาม นพ.มาร์ช มองว่านี่เป็นเพียงการสันนิษฐาน และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ที่ชัดเจน

 

แต่ข้อมูลที่แน่ชัดก็คือ เบโธเฟน เริ่มมีปัญหาด้านการได้ยินตั้งแต่ปี 1797 และในปี 1802 เขาได้ย้ายออกจากกรุงเวียนนาตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อไปอยู่ในเมืองใกล้ ๆ กันที่เงียบสงบกว่า และเพื่อทำใจยอมรับกับความพิการทางโสตประสาทของตนเอง

 

ในจดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชายสองคนแต่ไม่เคยได้ส่งไปถึง ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามของ “พินัยกรรมไฮลิเกนชตัดท์” (Heiligenstadt Testament) เบโธเฟน เล่าถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความต้องการหลบลี้หนีหน้าผู้คนเนื่องจากปัญหาสุขภาพและการไม่ได้ยิน

 

ถึงจะต้องเผชิญกับความทุกข์เหล่านี้ แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำงานศิลปะที่เขารัก ซึ่งตอนหนึ่งของจดหมายที่ถูกค้นพบหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว เบโธเฟน ได้เขียนเอาไว้ว่า

 

“เฮ้อ ! ไม่รู้จะยอมรับอย่างไรกับความอ่อนแอของประสาทสัมผัสในตัวพี่ที่ควรจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แบบกว่าใคร ๆ ประสาทรับเสียงที่ครั้งหนึ่งเคยยอดเยี่ยมที่สุดชนิดที่คนในอาชีพของพี่เพียงไม่กี่คนที่จะมีประสาทสัมผัสเช่นนี้”

 

เบโธเฟน เล่าว่าในช่วงแรกเขาเริ่มสูญเสียการได้ยินเสียงในความถี่บางระดับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็สูญเสียการได้ยินไปแทบทั้งหมด

 

มีหลักฐานว่าในปี 1818 เบโธเฟน เริ่มจะฟังคนพูดไม่รู้เรื่อง เขาจึงใช้วิธีเขียนสื่อสารกับผู้อื่นแทน แต่ถึงอย่างนั้น เขายังคงแต่งเพลงต่อไป ซึ่งรวมถึงบทเพลงที่น่าประทับใจที่สุดบางชิ้นของเขา

 

การที่เบโธเฟนถนัดการเล่นเปียโนมากที่สุด เขาจึงใช้มันในการแต่งเพลง โดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงต่าง ๆ เข้าช่วยด้วย

 

Photo of old hearing aids used by Beethoven

อุปกรณ์ช่วยฟังที่เบโธเฟนใช้ในการสร้างสรรค์บทเพลง

 

ทว่าเครื่องดนตรีที่ทรงพลังที่สุดของเขาคือ “สมอง”

 

ศ.ทันบริดจ์ กล่าวว่า “นักดนตรีต้องพึ่งพาการใช้จินตนาการสูง และพวกเขาสามารถได้ยินเสียงดนตรีในหัวได้ ซึ่งมันเป็นวิธีการที่เบโธเฟนใช้ในการสร้างสรรค์ดนตรีมาตั้งแต่เด็ก”

 

การเขียนเพลงที่ตัวเองไม่สามารถได้ยิน ผลักดันให้เบโธเฟน ใส่พลังและการแสดงภาษากายเข้าไปในชิ้นงานของเขาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

อันที่จริงผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีในยุคปัจจุบันมองว่าความพิการทางโสตประสาทได้เพิ่มพรสวรรค์ทางดนตรีของเขาในหลายด้าน

 

ดนตรีกับความหวัง

 

ศ.ทันบริดจ์ เล่าว่า เบโธเฟน แต่งคำร้องที่นำมาจากโคลงภาษาเยอรมัน Ode an die Freude (Ode to Joy) ของฟรีดริช ชิลเลอร์ ไว้ในท่อนหนึ่งของซิมโฟนีหมายเลข 9 ในช่วงที่เขาเผชิญมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าเขายังมีหวังในอนาคต และเป็นความรู้สึกที่ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นในผลงานชิ้นต่อ ๆ มาของเขา

 

ศ.ทันบริดจ์ คิดว่าแนวคิดเรื่องภราดรภาพและความสุขในบทเพลงของ เบโธเฟน “คือสิ่งที่เขามีความหวังให้เกิดขึ้นในทางการเมืองและสังคมโดยรวม”

 

“เขาเก็บงำความฝันนั้นไว้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และนั่นคือสิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้”

 

Painting of Beethoven's funeral in Vienna.

ชาวกรุงเวียนมาไปร่วมกล่าวอำลาเบโธเฟนเป็นครั้งสุดท้ายในงานศพของเขา
หลังจากเขาเสียชีวิตลงในวันที่ 26 มี.ค. ปี 1827 ขณะมีอายุ 56 ปี

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.bbc.com/thai/features-55315302

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *