สสส. ผนึก 5 มหาวิทยาลัย ลดปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาวะในกลุ่มนักศึกษา

ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ ในกลุ่มนักศึกษา thaihealth

 

สสส. ผนึก 5 มหาวิทยาลัย ลดปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาวะในกลุ่มนักศึกษา เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และอุบัติเหตุทางท้องถนน พร้อมสร้างความรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อสูญเสียอนาคต

 

ปัญหาด้านสุขภาพในกลุ่มเยาวชนไทยมักเริ่มต้นจากการชักจูงของกลุ่มเพื่อน โดยเริ่มจากการเสพติดของใกล้ตัว เช่น บุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า ดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน หากพฤติกรรมเบื้องต้นเหล่านี้ไม่มีเพื่อนคอยตักเตือน หรือไม่มีภูมิคุ้มที่แข็งแรงมากพอก็จะนำไปสู่การเล่นพนัน และมักจบลงที่การสร้างภาระหนี้สิน เป็นปัญหาของครอบครัวที่จะต้องรับผิดชอบกันต่อไป

 

เมื่อไม่นานมานี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ จัดโดย สสส. สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และมหาวิทยาลัยนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ 2.มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 3.มหาวิทยาลัยสยาม 4.มหาวิทยาลัยรังสิต และ 5.มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยมี นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

 

นายสาธิต กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากแผนงานควบคุมยาสูบ ปี 2560-2564 ระบุว่าการสูบบุหรี่ของเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 8.25 สอดคล้องกับข้อมูลมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่าปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 4 แสนคน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ จะมี 7 คน ที่เลิกไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วน 3 คน เลิกได้ แต่จะติดบุหรี่เฉลี่ยกว่า 20 ปี จำนวนตัวเลขเหล่านี้ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชน ขณะที่สถานการณ์ปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ของเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การเสพติดพนันส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิต และต่อระบบสมอง กลุ่มเดียวกับการเสพยาเสพติด ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบเด็กและเยาวชนไทยกำลังใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสริมแรงให้เข้าสู่เส้นทางการพนันถึงร้อยละ 94.2 ที่เด็กและเยาวชนเติบโตภายใต้สังคมที่แวดล้อมไปด้วยผู้เล่นพนัน ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนสนิท ซึ่งมีผลโดยตรงในการชักนำเข้าสู่จุดเริ่มต้นของการเล่นการพนัน

 

ผมสามารถบริจาคปอดได้อย่าง 100% เพราะปอดผมสะอาดมาก เนื่องจากไม่สูบบุหรี่ ตอนเด็กอาจจะมีเคยลองบ้างสมัยที่เป็นวัยอยากรู้อยากลอง แต่ก็ไม่เอา ผมไม่ยุ่งเลย จนตอนนี้ร่างกายผมแข็งแรงบริจาคปอดได้ และสิ่งสำคัญคือ ผมเชื่อว่าเด็ก เยาวชน กลุ่มนักศึกษาด้วยกันเอง จะเป็นพลังขับเคลื่อนเป็นกระบอกเสียงที่ดีได้ และจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างช่องว่างระหว่างวัยน้อยที่สุด

 

“ผมจึงอยากสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่ดีมากที่เยาวชนไทยเห็นความสำคัญและอยากออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง” นายสาธิต กล่าว

 

ด้าน นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนมีความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์เดินทางเสมอ ข้อมูลจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ สสส.เป็นผู้สนับสนุน ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 100 คน จากอุบัติเหตุ จะกลายเป็นผู้พิการ 5 คน และทั้งปีจะมีเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้พิการกว่า 2,000 คน

 

“สสส.และภาคีเครือข่ายพยายามกระตุ้นสังคมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี กระทั่งมองเห็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม จึงจับมือกันทำพิธีลงนามความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ขึ้น หลังจากนี้ สสส.จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รู้เท่าทันตัวเอง และรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงบั่นทอนการมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ที่จะสื่อสารออกไปได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นเยาวชนด้วยกันเอง ทั้งนี้ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. กล่าวว่า ยท. โดยโครงการพัฒนาการสื่อสารและเฝ้าระวังกลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดของธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.ตระหนักดีถึงปัญหาข้างต้น ดังนั้น ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จึงมีแนวคิดจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา พื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ ม.นอร์ทกรุงเทพ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.สยาม ม.รังสิต และ ม.เกษมบัณฑิต ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ

 

“โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกันด้านปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ยท.จะสนับสนุนทรัพยากรให้แกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไปดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การรณรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทักษะทางวิชาการ ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” นายพชรพรรษ์ กล่าว

 

ภายใต้การสนับสนุนของผู้ใหญ่ที่เป็นเสมือนผู้ชี้นำเส้นทาง และมีผู้ขับเคลื่อนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่เข้าใจในธรรมชาติของช่วงวัย การสื่อสารที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากการลงนามในครั้งนี้ทุกฝ่ายมีความมุ่งหวังว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ลดการตอบโต้ในกระแสตรงกันข้ามและเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thaihealth.or.th/Content/52913-ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ%20ในกลุ่มนักศึกษา.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *