11 ปีเต็มเพื่อวันนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ รพ.บำรุงราษฎร์

11 ปีเต็มเพื่อวันนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ รพ.บำรุงราษฎร์ ชดใช้ค่าเสียหายกว่าล้าน ทำคลอดลูกเชฟดังพิการแขนขวา และขาสองข้างขาด

ถือเป็นข่าวสำคัญสำหรับการต่อสู้ของคนเป็นพ่อ เมื่อการเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อลูกคนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าตกเป็นผู้พิการ เพราะผลการทำคลอดโดยโรงพยาบาล เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ได้นับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ พ.8964/2550 ซึ่งมี นางประภาพร แซ่จึง อายุ 45 ปี และ ด.ช.ซาย เค่อ ลี หรือน้องซาย อายุ 12 ปี ผู้พิการแขน-ขาหลังคลอด โดยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรชายของ มิสเตอร์ วอเตอร์ ลี สัญชาติมาเลเซีย เชฟชื่อดังและอดีตผู้ดำเนินรายการอาหารชื่อ “@ 5 เดลี่” อ อกอากาศสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เป็นโจทก์

ในการยื่นฟ้อง บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) , นพ.เดชะพงษ์ ภู่เจริญ แพทย์สูตินารีเวช และ พญ.อรชาติ อุดมพาณิชย์ แพทย์รังสีวิทยา เป็นจำเลยที่ 1 – 3 เรื่องละเมิดจากการวินิจฉัยอาการทารกในครรภ์ก่อนคลอดไม่ครบถ้วน จึงให้ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายทางจิตใจ และค่ารักษา ค่าอวัยวะเทียม รวม 390,966,293 บาท

จากกรณีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.49 นางประภาพร ภรรยาของนายวอลเตอร์ ลี ได้ฝากครรภ์ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ แต่ปรากฏว่าบุตรชายออกมา มีความพิการแขนขวา และขาทั้งสองข้างขาด ทั้งที่การฝากครรภ์แพทย์ระบุผลอัลตราซาวด์ว่า บุตรในครรภ์ของนางประภาพร สมบูรณ์และแข็งแรงดี

ทั้งนี้ศาลจังหวัดพระโขนง ที่เป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2552 เห็นว่า บริษัทบริหารโรงพยาบาลและแพทย์ทั้งสอง ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยได้กระทำประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสอง และละเว้นหน้าที่ที่ต้องระวัง เมื่อปี 2549 ในการตรวจเช็คความพิการของทารกขณะตั้งครรภ์ก่อนคลอด และการอธิบายวิธีการรักษาตามหน้าที่เพื่อให้ผู้ตั้งครรภ์รับทราบผลดี ผลเสีย ของทารกในครรภ์หากมีความพิการ ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร หรือการยินยอมหากจะยุติครรภ์ในกรณีที่ไม่ขัดศีลธรรมซึ่งสามารถทำได้ตามมติของแพทยสภาโดยต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้รักษาประกอบคำแนะนำของแพทย์

โดยแพทย์นั้นมีหน้าที่ต้องบอกอธิบายวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยรับทราบและยินยอม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าแพทย์ผู้รักษาไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์และไม่เคยอธิบายผลดี-ผลเสีย ของบุตรในครรภ์ให้โจทก์ทราบ จึงให้จำเลยทั้งสาม ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายทางจิตใจ ,ค่ารักษาผ่าตัดในอนาคต , ค่าอุปกรณ์ช่วยการพยุงตัวตามวัยและค่าขาดรายได้ รวม 12 ล้านบาทให้กับโจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2550 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี และให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าทนายความ 50,000 บาทให้โจทก์ทั้งสองด้วย

โดยที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมที่ให้ บริษัทบริหารโรงพยาบาลและแพทย์ ร่วมกันชดใช้ทดแทนให้โจทก์ทั้งสองไม่เต็มจำนวนตามที่ฟ้องนั้น เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้ส่อไปในทางเป็นอาชญากรรม

ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็น ให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงิน 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับเเต่วันฟ้อง และล่าสุดศาลฏีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทบริหาร รพ.บำรุงราษฎร์ และแพทย์ทั้งสอง ร่วมกันชดใช้เงิน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องที่ 20 ก.ย.2550 และค่าทนายความ 50,000 บาทให้โจทก์ทั้งสองด้วย

ทั้งนี้มิสเตอร์วอลเตอร์ ลี เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องฟ้องเป็นคดียาวนานกว่า 10 ปี เพราะตั้งใจให้กรณีของตน เป็นอุทาหรณ์ และเพื่อความมั่นคงทางแพทย์ ให้มีความรอบครอบมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ได้จัดตั้งมูลนิธิ ซาย มูฟเม้นท์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือเด็กที่พิการ ด้านความเคลื่อนไหวทั่วภูมิภาคอาเซียน กว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน

 

ขอบคุณ… http://www.tnews.co.th/contents/427768

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *