ก.แรงงาน จับมือ บสย.หนุนสินเชื่อปั้นแรงงานสู่ Startup

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานลงนาม MoU พัฒนาทักษะ และส่งเสริมการประกอบอาชีพ ดันแรงงานคุณภาพสู่ผู้ประกอบการ

 

วานนี้ 2 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมี นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นผู้ลงนาม รวมถึง หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และ นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเข้าร่วมพิธี ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

 

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการให้การช่วยเหลือ จัดสวัสดิการส่งเสริม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีอิสระในการกำหนดรูปแบบและวิธีดำเนินงานของตนเอง โดยเลือกอาชีพที่ชอบหรือคิดว่าตัวเองถนัด ต้องพัฒนาความสามารถของตัวเอง ศึกษารายละเอียดของอาชีพและเข้าฝึกอบรมจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ และบรรเทาปัญหาการว่างงาน กพร. และ บสย. จึงได้ตกลงร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบกิจการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถ ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความสามารถจนสามารถไปประกอบอาชีพ หรือประกอบกิจการของตนเอง และให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำ และรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เน้นย้ำถึงการมีงานทำของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย s-curve ซึ่งคณะอนุกรรมการจะต้องเร่งจัดทำแผนการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันยังมีแรงงานบางกลุ่มโดยเฉพาะแรงงานกลุ่มอาชีวะ และปริญญาตรี ที่ยังมีทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการ เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนพิการกว่า 5.5 แสนคน ที่มีข้อจำกัดในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากตำแหน่งงานที่มีไม่สอดคล้องกับคนพิการ หรือคนพิการไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ กระทรวง พม. และ กระทรวงแรงงาน จะวางแผนให้ความช่วยเหลือคนพิการให้มีทักษะอาชีพ โดยอาจจะเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งการประกอบอาชีพอิสระนี้จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน จึงหวังว่าการลงนาม MoU ในวันนี้ จะเกิดประโยชน์แก่แรงงานกลุ่มนี้เช่นกัน

 

 

 

 

“ความร่วมมือดังกล่าว กพร. จะได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและจะรวบรวมรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรมและมีความต้องการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ โดย บสย. จะประสานสถาบันการเงินต่างๆ จำนวน 19 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินดังกล่าว และ บสย. จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพ และสนับสนุนวิทยากรให้คำปรึกษาการบริหารเงิน รวมถึงการเริ่มต้นธุรกิจเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup)” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

 

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อ โดย บสย. ตัวอย่างการประกอบอาชีพ ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างเครื่องปรับอากาศ อาชีพอิสระในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนิทรรศการการดำเนินงานด้านสินเชื่อ SMEs ของสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจ

 

 

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/politics/detail/9630000100935

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *